กองทัพโดยเฉพาะ ทบ. กำลังเผชิญกับ ‘แรงกดดัน’ เหล่านี้ ที่รอวันปะทุออกมา โดยมี ‘แรงขับ’ มาจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพิ่มเติมด้วย กองทัพจึงต้องปรับตัวและปรับแนวนโยบายใหม่ ล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้พัฒนาการตรวจเลือกทหารกองประจำการ โดยเป็นการปูทางสู่ ‘ระบบทหารกองประจำการอาสา’ เพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ในอนาคต และสร้างแรงจูงใจให้ชายไทยสมัครเป็นทหารมากขึ้น
ในการตรวจเลือกทหารปี 2564 ทบ. ได้เริ่ม “การรับสมัครทหารกองเกิน เป็น ทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ กรณีพิเศษ” โดยเป็นการรับสมัครเฉพาะชายไทยอายุ 18-20 ปี (ผู้ที่เกิดปี 2544-2546) ผู้ที่ยังไม่ถูกเรียกเข้าเป็นทหารกองประจำการ และทหารกองเกินที่มีอายุ 22-29 ปี (ผู้ที่เกิดปี 2535-2542) ที่เคยเข้ารับการตรวจเลือกทหารแล้ว แต่ไม่ถูกเข้าประจำการ เพราะจับสลากได้ใบดำ หรือคนที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะมีคนร้องขอ ให้สามารถสมัครเป็นทหารกองประจำการได้เป็นกรณีพิเศษ
สำหรับคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานการตรวจเลือกทหาร เช่น ไม่จำกัดคุณวุฒิ ไม่จำกัดภูมิลำเนาทหาร มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร เป็นต้น โดยทบ. กำหนดจำนวนรับสมัครไว้ประมาณ 10,000 อัตรา และจะได้รับการบรรจุเข้าประจำการในผลัดที่ 1/64 คือเดือน พ.ค. 2564
นอกจากนี้ผู้ที่สมัครเป็นทหารด้วยวิธีพิเศษนี้ สามารถใช้สิทธิลดเวลาประจำการ ตามวุฒิการศึกษา , สามารถเลือกหน่วยทหารที่ตนเองประสงค์เข้าประจำการได้เฉพาะหน่วยทหารของกองทัพบก และต้องอยู่ในมณฑลทหารบกในพื้นที่ตามภูมิลำเนาทหาร, หากรับราชการทหารครบ 2 ปี และมีคุณสมบัติครบตามที่ทางราชการกำหนด มีสิทธิในโควต้าเฉพาะอีกส่วนหนึ่งในการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกตามที่กองทัพบกจัดสรรให้ ซึ่งปัจจุบันกองทัพบกจัดสรรโควต้าให้ทหารกองประจำการในการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบก ร้อยละ 80 และรับจากบุคคลพลเรือน ร้อยละ 20
นอกจากนี้ ผู้ที่สมัครเป็นทหารจะได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษ 15% ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการในสังกัดกองทัพบก รวมทั้งจะได้รับสิทธิสวัสดิการ ค่าตอบแทนเช่นเดียวกับทหารกองประจำการปกติ
แม้ว่า ทบ. จะมอบ ‘สิทธิพิเศษ’ ให้มากขนาดนี้ ทว่าจำนวนกลับไม่ได้ตามเป้าหมาย 10,000 อัตรา โดยได้มา 4,805 อัตรา
ทั้งนี้ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. เปิดเผยว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. พอใจกับตัวเลขดังกล่าว และชื่นชมผู้ที่สมัครเข้ามา และขอบคุณกำลังพลในการเตรียมการเรื่องนี้ ภายใต้สถานการณ์ข้อจำกัดด้านเวลาการประสัมพันธ์และการเตรียมการ
แต่ตัวเลขกลับลดลงไปอีก เมื่อถึงวันรายงานตัว โดยมีรายงานว่า จากผู้สมัคร 4,825 คน แบ่งเป็น ทบ. 4,805 คน และ กองบัญขาการกองทัพไทย 20 คน แต่มีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียง 3,220 คนเท่านั้น
แบ่งเป็น ทบ. 3,207 คน โดยในจำนวนนี้ ได้รับคัดเลือกไปอยู่ ฉก.ทม.รอ.904 จำนวน 19 คน และกองบัญชาการกองทัพไทย 13 คน
ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด 362 คน แบ่งเป็น ทบ. 360 คน กองบัญชาการกองทัพไทย 2 คน
นอกจากนี้มีผู้ที่ไม่มารายงานตัวเข้ารับการคัดเลือกกว่า 1,243 คน แบ่งเป็น
ทบ. 1,238 คน และ กองบัญชาการกองทัพไทย 5 คน
ทำให้ตัวเลขยอดเดิม 4,805 คน เหลือเพียง 3,207 คน เท่านั้น ห่างเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 อัตรา
ทั้งนี้ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสธ.ทบ. ในฐานะโฆษก ทบ. ระบุว่าการตั้งตัวเลขเบื้องต้นไว้ 10,000 อัตรา เพื่อวางแผนในระยะเริ่มต้น หากมากกว่านี้ก็จะมีจำนวนมากเกินไป โดยตัวเลขยอดเดิม 4,805 คน แล้วเหลือ 3,207 คน มีทั้งที่สละสิทธิ์ ตรวจร่างกายแล้วไม่ผ่าน ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้จำนวนตามเป้านั้น เพราะระยะเวลารับสมัครสั้นเพียง 1 เดือน และระยะเวลาเตรียมการไม่มาก จึงทำให้การประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง
พล.ท.สันติพงศ์ ระบุอีกว่า เหตุผลที่ทำให้ดึงดูดคนมาสมัคร เพราะได้รับสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิในการได้คัดเลือกเป็น นร.นายสิบ ทบ. เพื่อรับราชการเป็นทหารต่อไป พร้อมย้ำว่าตัวเลขที่ไม่ถึงเป้าหมาย ไม่ใช่เป็นเพราะมีความกลัวต่อกองทัพ
พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนที่เปิดรับสมัครชายไทยอายุ 18-20 ปี ซึ่งตามหลักเกณฑ์อายุเดิมที่ต้องมาเกณฑ์ทหารตามปกติคืออายุ 21 ปีขึ้นไป เพราะอายุ 18 ปีเป็นช่วงวัย ที่จบชั้น ม.6 พอดี เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนที่กำลังตัดสินใจต่ออนาคตตัวเอง เช่น จะมาเป็นข้าราชการทหาร โดยเริ่มต้นจากจุดนี้ก่อน เป็นต้น
ส่วนคนที่เคยจับได้ใบดำมาแล้ว ก็เป็นการเปิดโอกาสให้มาสมัครใหม่ เพื่อปูทางไปสู่การเป็นทหารได้ง่ายกว่าเป็นพลเรือน ผ่านการเป็น นร.นายสิบ ทบ. ก่อน หลัง ทบ. ปรับสัดส่วนการสอบเข้า ร.ร.นายสิบ ทบ. ที่ให้โควต้าทหารเกณฑ์ ร้อยละ 80 และรับจากบุคคลพลเรือน ร้อยละ 20
อย่างไรก็ตาม ทบ. ยังคงมีการ ‘เกณฑ์ทหาร’ ตามปกติในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเข้าประจำการ ผลัด1/64 ในเดือน พ.ค.นี้ และ ผลัด 2/64 ในเดือน พ.ย.นี้ โดยมีทั้ง ‘ระบบสมัคร’ และ ‘จับใบดำ-ใบแดง’ หากสมัครใจจะได้รับสิทธิลดหย่อนเวลาประจำการ ได้แก่ วุฒิปริญญาตรี ประจำการ 1 ปี หากสมัครจะประจำการเพียง 6 เดือน ส่วนวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี จะประจำการ 2 ปี หากสมัครใจจะประจำการเพียง 1 ปี
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือช่วงเกณฑ์อายุ 18 ปี ถึง 29 ปี ในการมาเป็นทหารเกณฑ์จะมีปัญหาในเรื่อง ‘ช่วงวัย’ หรือไม่ ในสังคมทหารเกณฑ์ที่ศักดิ์เท่ากัน
แม้กองทัพจะพยายามในหลายวิธีในการดึงดูดให้ชายไทย ‘สมัครใจ’ มาเป็น ‘ทหารกองประจำการ’ ทว่าก็ยังไม่สามารถใช้ ‘ระบบสมัครใจ’ ได้ทั้งหมด การเกณฑ์ทหารยังคงมีต่อไป
ดังนั้น ‘การปรับหลักเกณฑ์’ และ ‘เพิ่มสิทธิประโยชน์’ ยังคงไม่เพียงพอ เพราะข่าวที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์กองทัพยังมีอยู่เนืองๆ รวมทั้งรายได้ที่ไม่ได้ดึงดูดใจและโอกาสในการต่อทุนชีวิต เป็นต้นทว่าในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ก็เป็นอีกเหตุผลที่หลายคนเดินเข้าสู่กองทัพ เพื่อหาความมั่นคงให้กับชีวิตเท่านั้น
แสงปลายอุโมงค์ ‘พลทหารอาสา’ !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง