ปัญหาขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในทุกวันนี้ โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง มันไม่ได้กระทบเพียงแค่ตัวมนุษย์ ผู้ผลิตและใช้งานเท่านั้น แต่มันส่งผลกระทบในวงกว้างต่อส่ิงมีชีวิตอื่นๆ ลามไปถึงระบบนิเวศ ลามไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ที่ทุกชีวิตกำลังเผชิญกันในทุกวันนี้
แม้ระยะหลัง ภาพบนโลกโซเชียลเกี่ยวกับสัตว์ทะเลที่กินขยะพลาสติก หรือถึงรัดรึงด้วยชิ้นส่วนของพลาสติก ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้คนในวงกว้าง ให้ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์เลวร้ายของขยะพลาสติกที่โยนทิ้งขว้างไม่แยแส เกิดโปรเจ็กต์งดแจกถุง แจกหลอด จากห้างร้านต่างๆ มากขึ้น แต่ความพยายามดังกล่าว อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาภาพกว้างทั้งหมด
ความล้นหลามของขยะพลาสติก วิธีทางแก้จึงไม่สามารถทำได้เพียงแค่จากการ 'กำจัด' หรือ 'งดแจก' เท่านั้น แต่ควรเกิดจากการเรียนรู้ และตระหนักถึงการใช้งานมันเท่าที่จำเป็น รวมไปถึงการลดการใช้งานลง ไปจนถึงการไม่สร้างขยะพลาสติกเลย
มันควรเกิดขึ้นจากหัวใจของผู้บริโภคอย่างเราๆ ด้วย
ในขณะที่วันทำความสะอาดชายหาดโลก International Coastal Cleanup Day (21 กันยายน) ใกล้เข้ามา เช่นเดียวกันกับการประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในประเด็นเกี่ยวกับสภาพอากาศและความยั่งยืน 'Climate and SDG Summits' ก็กำลังจะมาถึงในวันที่ 23-25 กันยายนนี้
สหภาพยุโรปในประเทศไทย จึงชวนอาสาสมัครร่วมโครงการ 'Beach Cleanup 2019' ในวันศุกร์ที่ 13 กันยายนที่ผ่าน พาโต้คลื่นล่องเรือ ไปถึงเกาะสาก จ.ชลบุรี เพื่อเรียนรู้ปัญหาขยะในท้องทะเลผ่านสถานการณ์จริง โดยมี ดร. ดร.เวย์น ฟิลลิปส์ หัวหน้าคณะวิจัยระบบนิเวศวิทยาของแนวปะการัง จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เจ้าของ Project Koh Sak โปรเจ็กต์นำเที่ยวเกาะสากอย่างยั่งยืน มานำทีมให้ความรู้การคัดแยกขยะ สร้างจิตสำนึกถึงปัญหาขยะจากน้ำมือมนุษย์
ดร.เวย์น คุยกับทีม Voice On Being โดยบอกว่า โปรเจ็กต์นี้มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับพลาสติกในสิ่งแวดล้อมแนวปะการัง ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาศึกษาโดยตรง และหากถามว่าทำไมต้องพามายังพื้นที่จริง เพราะแม้ว่าขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจะเกิดขึ้นในทุกที่ ทั้งบนท้องถนน และพื้นที่ธรรมชาติ และท้องทะเล คือจุดบรรจบของขยะทั้งปวงที่ถูกพัดพา ผ่านวันคืน และเวลา
"แนวปะการัง เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และการท่องเที่ยว หากถูกทำลายไปด้วยขยะทะเล การท่องเที่ยวไทย แน่นอนว่าจะเสียผลประโยชน์ไป เราจะต้องเสียนักท่องเที่ยวไปให้กับประเทศอื่นๆ"
"ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นดิน แม้ว่าเราจะโยนลงบนพื้น และมันจะถูกบด ขยี้ จากอะไรก็ตามทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สุดท้ายมันมีโอกาสจะถูกพัดพาสู่แม่น้ำ และนำพาสู่ท้องทะเล ซึ่งหมายความว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน มีจุดจบในท้องทะเลเหมือนกันหมด รวมถึงบรรดาเศษซากพลาสติกเมื่อไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วย" นักวิจัยด้านนิเวศปะการัง อธิบายถึงสถานการณ์ให้เราฟัง
"จากนั้นสารเคมีตามธรรมชาติจะทำให้พลาสติกมีกลิ่นคล้ายอาหาร บรรดาสิ่งมีชีวิตก็จะคิดว่าพลาสติกมันคืออาหาร พวกเขากินเข้าไป แล้วนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของปัญหาที่เราเผชิญทุกวันนี้ ปลากินพลาสติก เรากินปลา เรากินพลาสติก สุดท้ายสิ่งที่มนุษย์ทำ มันก็กลับมาส่งผลกระทบต่อตัวมนุษย์เอง" แน่นอน นั่นหมายความว่า ขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของทั้งโลกต่อกันเป็นทอดๆ
ปัจจุบัน ขยะพลาสติกคิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของขยะชายหาดทั้งหมด โดย 70 เปอร์เซ็นต์เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งมีจำนวนพลาสติกมากกว่า 17,000 ล้านปอนด์ ถูกพัดพาลงทะเลในทุกๆ ปี
ภายใต้การทำงานของสหภาพยุโรป โปรเจ็กต์ Beach Cleanup 2019 เป็นโครงการภายใต้กรอบการทำงานด้านท้องทะเล หรือ Marine Strategy Framework Directive รวมถึงกรอบการทำงานด้านขยะและของเสีย หรือ Waste Framework Directive เพื่อสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ทั้งเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (Co2) ลง 3.4 ล้านตัน เลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีมูลค่ามากถึง 22,000 ล้านยูโรในปี 2030
"ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนมาก อียูเรามีกรอบความร่วมมือหลายกรอบในการแก้ไขปัญหา ร่วมกับการร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับพาร์ทเนอร์หลายหน่วยงาน โปรเจ็กต์ในวันนี้ แน่นอนว่าเรามาเก็บขยะ แต่ถามว่าเก็บเพื่ออะไร เราเก็บ เพื่อให้เกิดความตระหนักในปัญหา" ทูตเปียร์ก้า ตาปิโอลา ทูตอียู ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ Voice On Being
โดยสหภาพยุโรปในประเทศไทย นำทีมนักศึกษาจาก MUIC ตัวแทนจากสหประชาชาติ และอาสาสมัครบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ กว่า 150 คน แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกกันไปตามจุดต่างๆ ของชายหาดเกาะสาก
โดยในรอบแรก อาสาสมัครจะแบ่งเก็บขยะออกเป็น 3 หมวด คือ 1. พลาสติก แยกย่อยเป็น ขวดพลาสติก/ ถุงพลาสติก/และขยะพลาสติกอื่นๆ 2. โฟม และ 3. ขยะอื่นๆ อาทิ อะลูมิเนียม ไม้ แก้ว ฯลฯ ส่วนในรอบสอง ดร.เวย์น อธิบายการแยกประเภทขวดพลาสติก โดยให้แยกตามขนาดและนับจำนวนแต่ละประเภท เพื่อให้เห็นภาพว่าขวดแบบไหนเป็นขยะเยอะที่สุด แบ่งออกเป็น ขวดน้ำดื่มขนาด 350 มล./ 600 มล./ 800 มล. และขวดประเภทอื่นๆ เช่น ขวดน้ำมัน ขวดน้ำปลา
"เราเคยมีความคิดว่า จะเวิร์กจริงเหรอ มาเก็บขยะแค่วันเดียว แล้วสุดท้ายก็กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่ว่าพอมาตรงนี้ เราก็คิดว่า ปัญหามันก็เข้าไปอยู่ในใจเราเหมือนกันนะ ทำให้เรียนรู้ว่าการกระทำของเรา มันอาจจะกลายเป็นขยะของเราก็ได้ที่มาอยู่ตรงนี้ อย่างขวดเบียร์ขวดเดียว เราคิดว่าขวดเดียว แต่พอมันแตกเป็นเสี่ยงๆ มันกระจายเต็มชายหาด เราไม่สามารถถอดรองเท้าเดินได้เลย" อิงค์ - ฐิติมา ธุระกิจ หนึ่งในอาสาสมัคร ให้สัมภาษณ์
ด้าน ป้อกแป้ก - ณัฐนิชา หลิมบุญงาม เพื่อนที่มาด้วยกันกับอิงค์ ก็มีความเห็นคล้ายๆ กัน เธอบอกว่า แม้ก่อนหน้านี้จะเคยได้ยินเรื่องปัญหาขยะในท้องทะเล แต่พอได้มาสัมผัสจริง เธอได้เห็นว่ามีขยะหลายอย่างมากที่ไม่น่ามาอยู่ที่นี่ แต่ก็มี และมีเยอะมากด้วย เช่น ไฟแช็ก ขวดยา ยาดม
"สิ่งที่เราคาดหวังจากโปรเจ็กต์นี้ก็คือ เมื่ออาสาสมัครได้ร่วมกิจกรรม พวกเขาจะกลับไป พร้อมกับนำเมสเสจกลับไปด้วย นำความรู้กลับไปและปรับใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา" ดร.เวย์น บอกถึงความคาดหวัง
"พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าขยะพลาสติกที่เราเก็บที่นี่ มันคือขยะแบบเดียวกันที่เราพบเจอบนท้องถนนของกรุงเทพมหานคร หรือชายหาดที่ภาคใต้ หรือบนภูเขาที่ภาคเหนือหรืออีสาน"
ดร. เวย์น เสนอแนวทางเพิ่มเติมปิดท้ายด้วยว่า การสร้างความตระหนักรู้ด้านขยะพลาสติก นอกเหนือจากการสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคแล้ว รัฐบาลเองก็มีหน้าที่สำคัญในการออกมาตรการ ทั้งในระดับของผู้บริโภค ไปจนถึงระดับการผลิต เช่น การออกกฎหมายเพื่อหนุนให้ภาคเอกชนที่ผลิตพลาสติก ต้องมีการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะนำกลับพลาสติกมารีไซเคิลใช้งานเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซึ่งดร.เวย์นบอกว่า เขายังไม่เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย