นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา มีการส่งออกหน้ากากอนามัยมูลค่าทั้งสิ้น 160 ล้านบาท หรือ คิดเป็นปริมาณ 330 ตัน แบ่งเป็นเดือน ม.ค. จำนวน 150 ตัน เดือน ก.พ. จำนวน 180 ตัน และยืนยันว่ากรมศุลกากรเก็บข้อมูลเอกสารส่งออกหน้ากากอนามัยตามใบอนุญาตของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการส่งออกดังกล่าวเป็นการดำเนินการของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ไปในหลายประเทศทั้ง จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ
ขณะที่การนำเข้าหน้ากากอนามัยในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 145 ตัน มูลค่า 55 ล้านบาท และเดือน ก.พ. อยู่ที่ 71 ตัน มูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ในส่วนนี้จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าที่สำแดง โดยการนำเข้ามาเพื่อใช้ในประเทศ หรือเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออกต่อนั้น กรมศุลกากรไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และประเมินได้ยากว่าจำนวนหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาคิดเป็นจำนวนกี่ชิ้น เพราะการสำแดงสินค้าให้ทำตามน้ำหนัก
"การส่งออกเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ที่บอกว่าห้ามส่งออก เว้นแต่ได้รับการอนุญาต ถ้าผู้ประกอบการมีใบอนุญาต กรมศุลกากรก็คงไปห้ามไม่ให้ส่งออกไม่ได้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น ยอดการส่งออกหน้ากากอนามัยจะชะลอตัวลง" นายชัยยุทธ กล่าว
แจงโซเชียลฯ กังขาหน้ากากอนามัย 5 ล้านชิ้นถูกกันที่กรมศุลลากร
ส่วนกรณีที่มีเพจลงว่ามีคนให้ข้อมูลว่า ตู้สินค้าที่นำหน้ากากอนามัยเข้ามาทุกตู้ โดนกัก จำนวน 5 ล้านชิ้น และศุลกากรขอแบ่ง 2 ล้านชิ้น และมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจร้านขายยาว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่ นั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นเรื่องจริง โดยกรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ผ่านด่านศุลกากรท่าเรือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าแหลมฉบัง และด่านศุลกากรสุวรรณภูมิ พบว่า ไม่มีกรณีการกักหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้าเลย
โดยกรมฯ ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากรูปที่เพจได้มีการเผยแพร่ ไม่ใช่รูปของที่ถูกกัก แต่เป็นรูปเดียวกับที่มีลงในเพจซื้อขายออนไลน์ ดังนั้นรูปที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจโซเชียลมีเดียไม่ใช่รูปสินค้าที่ถูกกัก ไม่มีข้อมูลใดที่สนับสนุนว่ารูปที่ลงในเพจเป็นความจริง
"กรมฯ ได้ทำการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า ภาพที่ทางเพจของโซเชียลมีเดียได้นำมาลงนั้น เป็นภาพที่เหมือนกับการลงขายหน้ากากอนามัยในต่างประเทศ โดยกรมฯ ให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการทำงานของกรมศุลกากรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม" นายชัยยุทธ กล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า การนำเข้าหน้ากากอนามัยล็อตใหญ่ที่สุด ในเดือน ก.พ. 2563 จำนวน 2 ล้านชิ้น และในเดือน มี.ค. อีก 1 ล้านชิ้น ซึ่งทุกกรณีได้มีการตรวจและปล่อยสินค้าออกไปหมดแล้ว ส่วนกรณีที่มีการแชร์ว่ากรมศุลกากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจราคาหน้ากากอนามัยที่ขายตามร้านขายยาว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่นั้น ยืนยันว่า กรมฯ ไม่มีนโยบายและไม่มีเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจจับว่ามีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรไม่ปิดกั้น หากเจ้าของข้อมูลที่มีการแชร์จะเข้ามาชี้แจงเพื่อยืนยันข้อมูลกับกรมศุลกากร แต่หากข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็อยากให้เจ้าของข้อมูลรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้มีการเผยแพร่ด้วย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่จะเกิดขึ้นด้วย "กรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้มีการแนะนำให้ผู้เสียหายไปดำเนินคดี ส่วนเพจโซเชียลที่แชร์ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง หลังจากได้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว ก็อยากให้ลบข้อมูลดังกล่าวออก เพื่อลดการสร้างความสับสนที่จะเกิดขึ้น" นายชัยยุทธ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :