ไม่พบผลการค้นหา
ศาลแขวงดุสิตยกฟ้อง ‘มายด์ ภัสราวลี’ คดีชุมนุม 21 ต.ค. ไม่ผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ไม่มีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบ อันจะเป็นความผิดตามข้อกำหนด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ถูกฟ้องว่าฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 (ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือลาออกให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยศาลพิพากษายกฟ้อง พร้อมชี้ว่า จำเลยใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ตาม รธน. เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ไม่มีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบ อันจะเป็นความผิดตามข้อกำหนด

สำหรับการชุมนุม '21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย' เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมของประชาชนในนาม 'คณะราษฎร' ซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 16.00 น. ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่น 'จดหมายลาออกของนายกฯ' ฉบับจำลองให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ซึ่งในวันดังกล่าว ตลอดเส้นทางที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนได้มีการวางเครื่องกีดขวาง วางแนวกั้นแบรีเออร์ รั้วลวดหนามและรถเมล์ รวมถึงแนวตำรวจ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินทางไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ จึงรออยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ต่อมาพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้เป็นผู้ออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือจากลุ่มผู้ชุมนุม และมีการยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 21.30 น.  

อ่านบันทึกการสืบพยานได้ที่นี่ : เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน