ไม่พบผลการค้นหา
'พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์' นายรัฐมนตรีคนที่ 16 ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 98 ปี เคยได้รับฉายา 'นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา' ขณะที่นักวิชาการชี้ พล.อ.เปรม เป็นผู้มากบารมีในกองทัพที่ไม่มีใครมาแทนได้ และเป็นสัญญาณเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทย

ปิดตำนาน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ หลังการเสียชีวิตในวัย 98 ปี เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 โดยประวัติของ พล.อ.เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ก่อนไต่เต้าเติบโตในวัยหนุ่มด้วยการเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี 2484 โรงเรียนทหารม้า เดินตามเส้นทางสีเขียวจวบจนได้รับโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 และขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก

ก่อนเดินสู่เส้นทางการเมืองนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเมื่อปี 2523 พล.อ.เปรม ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย และโดยธรรมชาติของพล.อ.เปรม คือการเรียกตัวเองว่า 'ป๋า' จนมีเหล่าก๊กของทหารสนิทนาม 'ลูกป๋า' ก่อนจะลงจากตำแหน่งนายกฯ นาน 8 ปี ด้วยวลี "ผมพอแล้ว"

เปรม 98 ปี

"นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา"

เป็นฉายาที่ถูกเรียกขานจากสื่อมวลชน เมื่อครั้งพล.อ.เปรม โลดแล่นในเส้นทางของผู้มีอำนาจในกองทัพบก กุมอำนาจสวมหมวกผู้บังคับบัญชาการทหารบก ก่อนจะฟาดฟันกับ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังมีอีกหลายกรณีอาทิ การเผชิญหน้ากับการก่อกบฎของกลุ่มนายทหาร จปร. 7 และการปลดพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทำให้ในห้วงเวลานั้นภาพของ พล.อ.เปรม คือผู้ไม่สยบยอมอยู่ใต้การบังคับการของใคร และความสุขุมบวกเล่ห์เหลี่ยมยากที่เป็นกำแพงสูงสำหรับคู่ต่อกรที่ใครจะเอื้อมถึง 


"เกิดมาต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน-ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

วลีที่เคล้าไปกับนัยทางการเมือง ถือเป็นแบบฉบับของคนชื่อ 'เปรม ติณสูลานนท์' นับตั้งแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด 'ประธานองคมนตรี' สองแผ่นดิน ซึ่งการเอ่ยวาจาทายทักหลายครั้งล้วนแฝงไปด้วยความหมายผ่านประโยคเพียงสั้นๆ ไม่กี่คำ

ย้อนไปเมื่อ 14 ก.ค. 2549 ที่สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มสุกงอมในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร พล.อ.เปรม ได้กล่าวต่อหน้านักเรียนนายร้อย ฯ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ที่ จ.นครนายก ในตอนหนึ่งว่า 

"รัฐบาลก็เหมือนกับจ๊อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแล แต่กำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดี ขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน บางรัฐบาลก็ทำงานดี ทำงานเก่ง บางรัฐบาลทำงานไม่ดี ไม่เก่ง ก็มี นี่เป็นเรื่องจริง ที่พูดนี่เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่า เราเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องอื่นๆ ของพวกเรา เรื่องใหญ่ๆ ที่ทหารกำลังทำอยู่ เช่น นโยบายป้องกันประเทศก็ตาม นโยบายความมั่นคงก็ตาม มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องวางนโยบายกันเป็นเวลา 10-20 ฉะนั้นรัฐบาลที่จะเข้ามาอยู่ 4 ปีนี้ ก็ต้องดำเนินการตามที่นโยบายของกระทรวงกลาโหม หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดขึ้น ยากที่จะมาเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกันอย่างถ่องแท้ว่า ทหารอยู่ตรงไหน รัฐบาลอยู่ตรงไหน เจ้าของทหารอยู่ตรงไหน"

เปรม บ้านป๋าเปรม.m4v_snapshot_03.45_[2018.04.11_13.23.32].jpg

วลีนี้เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ โดยกองทัพเพียง 3 เดือนให้หลัง กลายเป็นว่าหลังคำกล่าวนี้ถูกรายงานออกมามีการเชื่อมโยงว่าการเอ่ยมาเช่นนี้ มันมีนัยอื่นแฝงหรือไม่ จนมีวาทกรรม 'ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ' แม้ว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหารครั้งนั้น จะออกมาบอกเมื่อปี 2555 ว่า 'พล.อ.เปรม' ไม่เกี่ยวข้องแต่ประการใด

หลังการผลัดเปลี่ยนจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน จนถึงสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี2551 พล.อ.เปรมก็ได้กล่าวชื่นชมและยินดีที่นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า "ผมดีใจที่ได้นายกรัฐมนตรีชื่ออภิสิทธิ์ และคิดว่าคนไทยก็ดีใจ แต่คนไทยยังคงไม่หายกลัวเท่าไหร่ คงต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะเอาอะไรไปมอบให้เขาได้บ้าง ในระยะเวลาที่คุณอภิสิทธิ์เป็นผู้นำรัฐบาล"

ป๋าเปรม

ต่อมาเมื่อถึงยุคสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่การยึดอำนาจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษ์ ชินวัตร ปี 2557-ปัจจุบัน พล.อ.เปรม ยังคงเปิดบ้านรอต้อนรับอดีตนายทหารผู้เข้าสู่ถนนการเมืองโดยการรัฐประหาร และยังคงมีวลีและโอวาทฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์อยู่เสมอ 

"เมื่อออกมาแล้ว คงจะถอยกลับไม่ได้ ต้องเดินหน้าอย่างกล้าหาญ เป็นสุภาพบุรุษ มีความเป็นไทยอยู่ในสายเลือด ที่เราจะไม่มีวันทอดทิ้งพี่น้องของเรา ผมทราบดีว่าทุกคนเหนื่อย แต่เป็นการเหนื่อยเพื่อชาติ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" - 29 ธันวาคม 2557

"ผมมั่นใจในตัว ผ.บ.เหล่าทัพ มั่นใจในตัวนายกฯ มั่นใจในตัวคุณป้อม และมั่นใจทุก ๆ คนว่าจะสามารถทำสิ่งดังกล่าวได้ ก็ขอให้ช่วยกันเพื่อนำทางไปสู่ความสำเร็จ เพราะจะเป็นของขวัญให้คนไทยทุกคน และถวายเป็นพระราชกุศุลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" - 26 สิงหาคม 2558

"ทุกคนทำงานเหนื่อยมาก รัฐบาลก็เหนื่อย แต่อยากจะบอกนายกฯ ว่ายิ่งเหนื่อยมากเท่าไร ความสำเร็จก็จะมีมากขึ้น" - 29 ธันวาคม 2559

"ตู่ได้ใช้กองหนุนไปหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีของเราที่มีต่อประชาชนชาวไทย กองหนุนจะมาเอง" - 28 ธันวาคม 60

"เห็นต่างอย่างเป็นมิตร ที่แม้จะเห็นต่างแต่เป็นเพื่อนกันได้ อย่าเห็นต่างเป็นศัตรูเพราะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ขอให้เห็นแก่ความเป็นมิตรด้วยกัน ทุกอย่างก็จะราบรื่นและไปได้สวยงาม หวังว่านายกรัฐมนตรี จะนำไปใช้ เพราะตนเองเคยนำไปใช้แล้วได้ผลดี" - 27 ธันวาคม 2561

"รัฐบาลของนายกฯ ไม่โกง เพราะเห็นแก่ส่วนรวมจริง ๆ" และ "ผมพูดเสมอว่ารัฐบาลนี้เก่งไม่เก่งก็ดูเองก็แล้วกัน แต่ผมแน่ใจอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลนี้ไม่โกง ยืดอกพูดได้เลยว่ารัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่โกง ถ้าผมพูดผิด นายกฯ ก็ต้องไปจัดการ ก็ขอขอบคุณที่ระลึกถึงกันมาตลอด" - 10 เมษายน 2562

สำหรับผลงานของพล.อ.เปรม ถือว่าครบเครื่องทั้งด้านบู๊และบุ๋น ด้วยการผ่านสนามรบในสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่ 2 และในบั้นปลายชีวิต พล.อ.เปรมได้เปิดโครงการที่เกิดคุณประโยชน์ต่อสังคม อาทิ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 65/2525 ในยุคสมัยหลัง 6 ตุลาคมที่นักศึกษาหนีเข้าป่าจับปืนต่อสู้หลังถูกปราบปราม รวมถึงโครงการ 'สานใจไทยสู่ใจใต้' เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนรักชาติและไม่หลงลืมความเป็นไทย ซึ่งตอนนี้มีจนถึงรุ่น 35 แล้ว 

นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศ ทั้งรอยเตอร์/เอพี และเดอะสเตรทไทม์ส ต่างพร้อมใจรายงานข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม โดยระบุว่าเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญทางการเมืองของไทย

ขณะที่เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ หรือ SMCP รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของไทย ซึ่งระบุว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการทหาร เห็นได้จากการที่ผู้นำเหล่าทัพจะต้องขอเข้าพบ พล.อ.เปรมเพื่อหารือหรือขอความเห็นชอบในหลายด้าน และยังไม่มีใครที่จะมีบารมีเทียบเคียงได้ การถึงแก่อสัญกรรมครั้งนี้จึงอาจเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม