วันที่ 12 พ.ค. เวลา 10.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำสั่ง ที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 สิทธิชัย ปราศรัย กับพวกรวม 9 คน คดีกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138 วรรคแรก, 360, 361, 365 (1)(2)
ภายหลังจากที่ศาลอาญา ได้ทำการไต่สวนคำร้องฝากขังและคำคัดค้านการฝากขังของผู้ต้องหาแล้ว เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา วันนี้พนักงานสอบสวน ผู้ร้อง ผู้ต้องหาทั้งเก้าและทนายความมาศาลพร้อมฟังคำสั่ง
โดยศาลอาญา พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอฝากขังและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาทั้งเก้าแล้ว เห็นว่าพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้งเก้า ผู้ถูกจับมาศาล และยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าในระหว่างทำการสอบสวน โดยระบุในคำร้องว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันทําให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกันบุกรุกโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปในอาคารสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นหรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิ์ที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออกโดยใช้กำลัง ประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันต่อสู้หรือ ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
โดยพนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 10 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาทั้งเก้า และตามทางไต่สวนผู้ร้องได้ความเพิ่มเติมว่า พยานบุคคลดังกล่าว ได้แก่ เจ้าพนักงานตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผล และรายงานผลการตรวจสอบที่เกิดเหตุ กรณีจึงมีเหตุผลและความจำเป็นต้องมีการฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าในระหว่างทำการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนการฟ้องคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาลในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยมาในการพิจารณาคดีของศาล
ส่วนที่ผู้ต้องหาทั้งเก้าคัดค้านว่า ถูกควบคุมตัวในสถานที่ นอกเหนือจากสถานีตำรวจที่เกิดเหตุอันเป็นพื้นที่ห่างไกลก็ดี ขณะจับกุมถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายก็ดี และตรวจยึดสิ่งของไปโดยไม่ชอบก็ดี ได้ความจากผู้ร้องเบิกความว่า เหตุผลที่ต้องแยกควบคุมผู้ต้องหาทั้งเก้าออกเป็น 3 ส่วน หรือ 3 สถานีตำรวจ เป็นไปตามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากเกรงว่าจะมีมวลชนมาปิดล้อม และบริเวณ สน.สำราญราษฎร์ ที่เกิดเหตุมีบ้านพักราชการและบ้านเรือนประชาชนเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมอีก กรณีจึงเป็นเรื่องความปลอดภัยและความสงบสุขโดยรวมของประชาชน
ส่วนเรื่องการทำร้ายร่างกายนั้น ปรากฏว่าฝ่ายผู้ต้องหาทั้งเก้าก็ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายโดยร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากแล้ว ในการตรวจยึดสิ่งของ เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มีการจัดทำบันทึกการตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน ส่วนสถานีตำรวจที่นำผู้ต้องหาทั้งเก้าไปควบคุมสามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก และแม้ผู้ต้องหาทั้งเก้าคัดค้านว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีก็ตาม แต่เมื่อกรณีมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี และพนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้งเก้ามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนอยู่แล้ว ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งเก้าได้ตามขอ โดยคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 นั้น มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-22 พ.ค.นี้
ต่อมา กฤษฏางค์ นุตจรัส ทนายความผู้ต้องหา ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์ประกันตัวเพื่อจะขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ซึ่งเมื่อเวลาประมาณ 15.53 น. ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ในชั้นสอบสวน ตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่ว่าโจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยมีประกันให้วางเงิน คนละ 25,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์