ไม่พบผลการค้นหา
‘เกษตรฯ – กลาโหม’ ร่วมบันทึกความร่วมมือ ช่วยเหลือ-ป้องกัน-สร้างสรรค์-พัฒนา มุ่งพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ฟื้นรายได้เกษตรกร

วันที่ 28 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงกลาโหม 

ทั้งนี้ มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานสักขีพยาน ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นสักขีพยานกระทรวงเกษตรฯ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.โดมศักดิ์ คำใสแสง ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นสักขีพยานกระทรวงกลาโหม  

ตลอดจน เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ พีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ สร้างรายได้สำคัญแก่ครัวเรือนของประชากร โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก 

อย่างไรก็ตาม รายได้ของภาคเกษตรกลับพบว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งยังขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความผันผวนตามฤดูกาล จึงก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรตกต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปัญหาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามมา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงกลาโหม จึงได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินงานตามภารกิจภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของหน่วยงาน สู่มิติ “ช่วยเหลือ ป้องกัน สร้างสรรค์ พัฒนา” เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 

โดยการ ‘ช่วยเหลือ’ ได้แก่ การรับซื้อผลผลิต ตั้งจุดจำหน่าย กระจายสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัย ‘ป้องกัน’ การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ‘สร้างสรรค์’ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และ ‘พัฒนา’ เสริมศักยภาพด้านการเกษตรให้กำลังพล พัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ โครงการพระราชดำริ โครงการทหารพันธุ์ดี จึงได้ตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้นในวันนี้

สำหรับขอบเขตความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

1. การรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การตั้งจุดจำหน่าย และการกระจายสินค้าล้นตลาด โดยกระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลแหล่งรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม โดยประสานการจัดซื้อ จัดจำหน่าย และการขนส่งผ่านสถาบันเกษตรกร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงกลาโหม พิจารณารับซื้อผลผลิตตามความต้องการของหน่วยงาน รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่เพื่อตั้งจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรตามศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงาน

2. การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายตามแนวชายแดน (ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง) โดยกระทรวงกลาโหมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนในการตรวจสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ

3. การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน การดำเนินการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมแก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์

4. การเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการพัฒนาพื้นที่การเกษตร ศูนย์การเรียนรู้ การฝึกอบรม การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เพื่อยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตร

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างรายได้ในภาคการเกษตรโดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน จะมีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) การวิจัย พัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น 

ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้านตั้งแต่ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์กลไกราคา แหล่งเงินทุนนวัตกรรม และกรรมสิทธิ์ที่ดินของเกษตรกร มีเป้าหมายทำให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

การสร้างรายได้ผ่านนโยบายข้างต้น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมสอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิต เติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงระบบสวัสดิการที่เหมาะสม