ที่รัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านขู่ร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเอาผิดประธานสภาฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ไม่บรรจุญัตติตั้งกรรมาธิการตรวจสอบที่มาของ ส.ว.ว่า ประธานอยู่ภายใต้กฎหมายถ้าประธานทำผิดมีสิทธิยื่นเรื่องเพื่อจัดการเอาผิดได้ แต่ระวังการยื่นร้องอย่าให้เป็นเรื่องเท็จ เดี๋ยวจะโดนแจ้งเท็จ
ส่วนการยื่นญัตติดังกล่าวนั้น ทางเจ้าหน้าที่สภาฯ ได้เสนอเรื่องมายังรองประธานสภาฯ ได้วินิจฉัยให้ตนแล้ว ซึ่งขณะนี้ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญก็ได้ให้ฝ่ายกฎหมายมาหารือเพื่อดูตามข้อกฎหมายให้ดีที่สุด เรื่องนี้ประธานและรองประธานสภาฯยังต้องหารือก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่แน่ใจก็จะให้ฝ่ายกฎหมายและที่ปรึกษามาช่วยพิจารณาทั้งหมด ยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น ขออย่าเป็นห่วง ถ้าประธานสภาฯทำผิด ก็เอาผิดได้ ตอนนี้ได้คุยกับฝ่ายกฎหมายแล้วได้ข้อยุติบางประเด็น และจะวินิจฉัยได้ว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่สองได้ให้สัมภาษณ์ไปก่อน
เมื่อถามว่า การยื่นญัตติตรวจสอบที่มาของส.ว.มีการมองว่าเป็นอำนาจของหัวหน้า คสช. นายชวน ระบุว่า ขอไม่พูดถึงความเห็น เพราะยังไม่ออกระเบียบวาระ และไม่ขอตอบประเด็นนอกเหนือจากนี้ ตนขอดูบทบาทสภาฯเท่านั้น ส่วนอำนาจของฝ่ายอื่นก็ว่ากันไป
"ขอดูก่อน นี่คือแนวปฏิบัติไม่ใช่เรื่องขู่ต้องบรรจุหรือไม่บรรจุ อันนี้เป็นสิทธิของประธานจะวินิจฉัยได้ ผมคิดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนคือในวันพุธที่ 3 ก.ค. เรื่องทั้งหมดอยู่ที่สภาฯ จะยื่นเงื่อนไขต่อรองหรือขู่ ไม่มีผล เพราะคนเป็นประธานไม่ว่าใครก็ตามต้องวางตัวเป็นกลางวินิจฉัยยึดความถูกต้อง ผมแปลกใจทำไมโวยวาย ไม่ฟังเหตุฟังผล หรือรีบร้อนขู่ก่อน ประธานต้องวินิจฉัยตรงไปตรงมา" นายชวน ระบุ
ส่วนกรณีฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส.ส. 33 คนของฝ่ายค้านถือครองหุ้นสื่อสารมวลชนนั้น นายชวน ระบุว่า ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายเลขานุการได้ตรวจสอบความถูกต้อง ตรวจสอบลายมือชื่อตรงกับลายมือที่เคยลงไว้ให้กับสภาฯหรือไม่ หากเห็นว่าถูกต้องก็ในสัปดาห์หน้าก็คาดว่าจะส่งเรื่องมาให้กับตนได้ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบแบบเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโดยใช้เวลาเท่ากัน ถ้าเรียบร้อยก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง