วันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางเพื่อแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนแล้วเสร็จ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวอภิปรายสรุป และตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภา
จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติแบบเปิดเผยเป็นรายบุคคล จำนวนสมาชิกรัฐสภา ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จำนวน 747 คน
ภายหลังการลงมติเสร็จสิ้น เวลาประมาณ 17.30 น. โดยผลการลงมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งผลการลงมติ โดยผลปรากฎว่ามีมติเห็นชอบ 482 เสียง (สมาชิกวุฒิสภา เห็นชอบ 152 เสียง) ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง จึงถือว่า เศรษฐา ทวีสิน ได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา จึงถือว่ามติที่ประชุมเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ จากนั้น พรเพชร ได้สั่งปิดการประชุมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สส.ที่ลงมติเห็นชอบส่วนใหญ่เป็นไปตามติพรรค โดยพรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ร่วมออกเสียงลงมติในที่ประชุมครั้งนี้โดยแจ้งลาป่วย
ขณะที่ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ในตอนแรกส่วนใหญ่ไม่ใช้สิทธิออกเสียงเลย มีเพียง ชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน สส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ออกเสียงไม่เห็นชอบ และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่งดออกเสียง ขณะที่มี 2 คนที่สวนมติพรรค ออกเสียงเห็นชอบ คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา อวยพรศรี เชาวลิต สส.นครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม หลังการลงมติเสร็จสิ้น ได้มี สส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวนมาก เปลี่ยนการลงคะแนนของตนเองเป็น เห็นชอบ ,มีจำนวน 16 เสียงประกอบด้วย
1.ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช
2.พิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช
3.เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา
4.สุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง
5.ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.สงขลา
6.ชาตรี หล้าพรหม สส.สกลนคร
7.ทรงศักดิ์ มุสิกอง สส.นครศรีธรรมราช
8.สุภาพร กำเนิดผล สส.สงขลา
9.กาญจน์ ตั้งปอง สส.ตรัง
10.ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช
11.จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.ประจวบคีรีขันธ์
12.วุฒิพงศ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี
13.ยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี 14.พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา 15.อวยพรศรี เชาวลิต สส.นครศรีธรรมราช 16.สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน
ทำให้มี สส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น 16 คน ที่ออกเสียงเห็นชอบให้ เศรษฐา ซึ่งเป็น สส.ในกลุ่มของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และเดชอิศม์
ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า สว. ส่วนใหญ่ที่ออกเสียงเห็นชอบ จะเป็น สว. ในสายทหาร ขณะที่ สว.ฝ่ายพลเรือน ส่วนใหญ่จะงดออกเสียง เช่นเดียวกับ สว.ในสัดส่วนผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดที่งดออกเสียง หรือไม่ได้มาลงมติ
ผู้สื่อข่าวยังรายงานด้วยว่า ประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้นัดหมาย สส.พรรคเพื่อไทยแต่งกายด้วยชุดปกติขาว มาพร้อมกันที่บริเวณชั้น 7 ของพรรคเพื่อไทย เพื่อร่วมพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าพิธีดังกล่าวจะเริ่มในเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันเดียวกันนี้
ระทึก! สส.ก้าวไกลเป็นลมหมดสติระหว่างโหวตนายกฯ ต้องช่วยปั๊มหัวใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการลงมตินายกรัฐมนตรีในช่วงท้าย และเหลือสมาชิกที่ขานชื่ออีกเพียง 10กว่า คน การลงมติได้ชะงักอย่างกะทันหัน เพราะเกิดเหตุไม่คาดคิด เมื่อ สส.พรรคก้าวไกล คนหนึ่งได้ล้มลงหมดสติ ทำให้สมาชิกโดยรอบเรียกหาแพทย์เพื่อทำการกู้สัญญาณชีพโดยการปั๊มหัวใจ โดยมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้การช่วยเหลือ
ระหว่างนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอชะลอการลงมติไปก่อน และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในห้องประชุม ไม่ให้เก็บภาพและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนจะเชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม เพื่อเป็นการเคารพสิทธิของผู้ป่วย
ก่อนที่ พรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานให้นำตัวผู้ป่วยส่งยังโรงพยาบาลวชิระ ซึ่งอยู่ใกล้รัฐสภาที่สุด ขณะที่ นพ.วาโย ได้ติดตามไปดูแลอาการอย่างใกล้ชิด และมีรายงานว่า ล่าสุดหัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ และภายหลังมีการชี้แจงว่า สส.คนดังกล่าว มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว โดยมีอาการป่วยมาตั้งแต่ช่วงเช้า