วันที่ 25 พ.ค. 2565 กรมสุขภาพจิต ชี้สถานการณ์ความเครียดของเยาวชนไทยสูง ส่งผลต่อการพัฒนาเยาวชนไทยสู่การเป็นประชากรคุณภาพ พร้อมเร่งพัฒนาเครือข่ายทุกภาคส่วนในการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตผ่านกลไก คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) ระบุว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า สอดคล้องกับการสำรวจในประเทศไทยโดยข้อมูลจาก Mental Health Check In ในกลุ่มประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี ในระหว่าง 12 ก.พ. - 23 พ.ค. 2565 ที่พบว่า เยาวชนไทยเสี่ยงต่อการซึมเศร้าร้อยละ 5.34 และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 7.99 ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่
ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาช่องทางเพื่อช่วยเหลือเยาวชนในรูปแบบต่างๆ โดยนอกจากจะมีระบบ Mental Health Check In ที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินความเครียดเบื้องต้น ยังมีระบบการดูแลสุขภาพจิตโรงเรียนบนระบบดิจิทัลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้ชื่อ School Health HERO ซึ่งจะช่วยลดภาระการใช้เอกสารคัดกรอง คุณครูสามารถเรียนรู้การดูแลช่วยเหลือปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคมของเด็กผ่าน e-learning และให้การช่วยเหลือในชั้นเรียน หากช่วยเหลือแล้วยังไม่ดีขึ้น สามารถปรึกษาบุคลากรด้านสุขภาพจิต หรือ HERO Consultant ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ปัจจุบันระบบดังกล่าวได้ดำเนินการในสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวน 3,444 โรงเรียน เฝ้าระวังความเสี่ยงให้นักเรียนจำนวน 230,891 ราย โดยมีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจนดีขึ้นถึงร้อยละ 69.34 ครอบคลุมร้อยละ 46.6 ของอำเภอในประเทศไทย
นันทาวดี วรวสุวัส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จของการดำเนินงานดังกล่าวกรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายที่จะขยายไปในช่วงวัยรุ่นในระบบการศึกษาระดับอื่นๆ ซึ่งได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสำรวจถึงความต้องการในการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตนักศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ซึ่งพบว่า ร้อยละ 93.55 ของหน่วยงานต้องการความช่วยเหลือเพื่อเข้าถึงการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้กรมสุขภาพจิต และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงาน (MOU) ระหว่างกรมสุขภาพจิตกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ภายใต้โครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในระบบสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพจิต การดูแลช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา รวมทั้งการติดตามต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงสนับสนุนให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในการทำงานต่อไป กรมสุขภาพจิต จะพัฒนาความร่วมมือในการดูแลจิตใจของเยาวชนไทยในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนไทยทุกช่วงวัยมีจิตใจที่แข็งแรง พร้อมก้าวสู่การเป็นคนไทยคุณภาพต่อไปในอนาคต