"อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงรอบดึกในค่ำวันที่ 24 มีนาคม 2562 ว่าได้ต่อสายตรงถึงบางพรรคการเมืองเรียบร้อยแล้ว ในลักษณะ “แสดงความยินดี” โดยยังไม่ได้มี “ดีลการเมือง” แบบเป็นทางการ
ทว่ารายงานข่าวจาก “แนวหน้า” ในเวลา 16.10 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2562 ชี้ต่างไปจากคำแถลงก่อนหน้านั้น กระแสข่าวรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐ สามารถจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เป็นผลสำเร็จ โดยมีสองพรรคใหญ่ อย่าง “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์” จ่อร่วมรัฐบาล
รายงานข่าวแจงว่า หลังปิดหีบเลือกตั้งในค่ำวันที่ 24 มีนาคมไม่นานนัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล-มือดีล คสช.” ได้ร่วมกับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ พูดคุยกับหัวหน้าพรรคและตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีเก้าอี้ในสภาแน่นอนแล้ว โดยใช้สถานที่เป็น บ้านป่ารอยต่อใน พัน1 รอ.
เป้าหมายหลักของดีลการเมืองนี้ก็เพื่อหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวแทนของพรรคการเมืองที่ไปร่วมพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตรก็เช่น
-นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวนิช รองหัวหน้าพรรคฯ
-นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
-นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กับนายประภัทร โพธสุธน
-นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา
-นายดำรง ภิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่า
-นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปรึกษาพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย ได้ส่งตัวแทนไป
-พรรคอื่นๆที่มี ส.ส.เขต หรือบัญชีรายชื่อ อย่างละ1เสียง
ไม่ว่าจะเป็นข่าวปล่อย หรือข่าวจริง ย่อมหวังผลในทางการเมือง โดยเฉพาะเป็นการปล่อยข่าวหลังคำแถลงประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยเฉพาะเป็นการปล่อยข่าวหลังมีแนวโน้มว่า “อนุทิน ชาญวีรกุล” สามารถพิชิตตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผ่านข้อเสนอชวนร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเป็นการหวังให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ไม่อาจเดินหน้าไปไกลกว่านี้ในความพยายามเพื่อรวบรวมคณิตศาสตร์การเมืองไปให้ถึงตัวเลขที่หวังไว้
ในท่ามกลางความพยายามของการโหมกระแสว่า พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว โดยอำนาจนำของกองทัพ วันนี้พรรคเพื่อไทย นำโดย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ของพรรค พร้อมกับทีมบริหารพรรคได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยจะรวบรวมเสียงของพรรคการเมือง ที่ “ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ” ซึ่งน่าจะมีมากกว่า 300 เสียง มาร่วมกันเป็นรัฐบาล
หนึ่งในข้อสงสัยคือ พรรคการเมืองอันดับ 1 อย่างเพื่อไทย และพรรคการเมืองอันดับ 3 อย่างพรรคอนาคตใหม่จะจับมือกันได้หรือไม่ ? และเพื่อไทยจะตั้งรับอย่างไร ในกรณีอนาคตใหม่บอกว่า จะโหวตให้กับนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. เท่านั้น ? เมื่อนักข่าวถามคำถามนี้ ทั้ง “สุดารัตน์-ภูมิธรรม” ย้ำชัดว่า “นั่นไม่ใช่ปัญหา” เพราะการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่ใช่เพื่ออำนาจทางการเมือง แต่เพื่อปลดล็อคทางการเมือง
นัยยะทางการเมืองที่เพื่อไทยทิ้งไว้ใน 1 วันหลังเลือกตั้งก็คือ
-จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล “รวมพลคนไม่เอาประยุทธ์” ให้สำเร็จ
-ทั้งสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรค คือ สุดารัตน์ ชัชชาติ ชัยเกษตร พร้อมถอยให้มี นายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่น กล่าวคือ ไม่เอาตัวเองเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
-ยอมเช่นนี้ ประกาศเช่นนี้ เพื่อปลดล็อคการเมือง พาประเทศออกจาก การปกครองโดย คสช. ไปสู่การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย
ให้หลังจากคำแถลงของพรรคเพื่อไทยไม่นานนัก พรรคที่อยู่ติดกันอย่างพรรคอนาคตใหม่ก็แถลงตามทันที ธนาธรเริ่มต้นด้วยการขอบคุณทุกคะแนนเสียง ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ขณะนี้พรรคจำนวน ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์รวมกันทะลุ 80 เก้าอี้ โดยมี ส.ส.ในทุกภาค ยกเว้นที่ภาคใต้
ธนาธร ประกาศชัดเจนว่า “ธนาธร พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อนาคตใหม่จะไม่เสนอชื่อ ธนาธรเป็นนายกฯ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1”
คำถามคาใจของสื่อมวลชนก็คืออนาคตใหม่จะสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้ คุณหญิงสุดารัตน์จะไม่ได้เข้าสู่สภาแน่นอนแล้วในฐานะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ธนาธร ย้ำชัดว่า “น้ำหนักในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของพวกเรา ก็คือ การหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช.”
“อนาคตใหม่ จะไม่สร้างเงื่อนไขในการนำพาประเทศไปสู่ทางตัน”
ก่อนเฉลยในท่อนต่อมาอันเป็นเสมือนการปลดล็อคทางการเมืองขนาดใหญ่ให้พรรคเพื่อไทย และเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังพรรคการเมืองลำดับต่ำกว่าที่หวังชิง นายกรัฐมนตรี ด้วยว่า
“คุณหญิงสุดารัตน์ ได้แสดงตัวชัดเจนว่า แสดงการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง คุณหญิงสุดารัตน์คือผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย เธอแสดงความตั้งใจจริงที่จะอยู่ในระบบ เธอแสดงความตั้งใจจริงที่จะเล่นอยู่ในกติกา แต่การที่กติกา เงื่อนไขการเลือกตั้งที่เป็นอย่างนี้ ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้ตำแหน่ง ส.ส. ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่ เรายอมรับได้ หากพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี”
ธนาธรยังเผยด้วยว่า ได้คุยกับคนของพรรคเพื่อไทยแล้วค่ำวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยไม่ได้คุยในเชิงรายละเอียด เพียงแต่เห็นตรงกันในภาพใหญ่ว่า “การหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช. ต้องเป็นเรื่องแรกที่มาก่อน”
คำแถลงของ “ธนาธร” เป็นเสมือน “การปิดประตู ประยุทธ์ - การปิดประตูพรรคการเมืองลำดับต่ำกว่าที่หวังใช้เงื่อนไขร่วมรัฐบาล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ทว่าเป็นการ “เปิดประตูให้คุณหญิงสุดารัตน์ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”
อนาคตใหม่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับหลักการในการจัดตั้งรัฐบาลว่า “นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากพรรคอันดับ 1 ที่ชนะการเลือกตั้ง” เท่านั้น แต่ยังเปิดประเด็นใหม่อีกสองเรื่องไปยังสนามการเมืองหลังการเลือกตั้ง
เรื่องแรกคือชวนพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมกัน ปิดสวิตซ์ ส.ว. หรือโหวตนายกรัฐมนตรีให้จบตั้งแต่ในสภา ซึ่งเมื่อดูตัวเลขของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐขณะนี้ก็พบว่า ต่ำกว่า 124 เสียง เพราะฉะนั้นการปิดสวิตซ์ ส.ว.ยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
เรื่องที่สองคือจุดประเด็นการจัดทำ MOU เพื่อร่วมรัฐบาล โดยประกาศชัดว่า อนาคตใหม่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดก็ตาม ภายใต้เงื่อนสามข้อต่อไปนี้ (1)แก้ไข รธน.2560 ทั้งฉบับ (2)ปลด มาตรา 279 จัดการมรดกบาป คสช. (3) และปฏิรูปกองทัพ
ปิยบุตร ย้ำว่า การจัดทำ MOU เพื่อร่วมรัฐบาล เป็นการชี้ชัดว่า “การร่วมรัฐบาลไม่ควรเกิดขึ้นจากการต่อรองเก้าอี้ทางการเมือง” อันเป็นทั้งหลักการ และเป็นทั้งมาตรฐานใหม่ที่อนาคตใหม่พยายามเสนอต่อสังคม และเสนอต่อบรรดาพรรคการเมืองด้วยกันเอง
ทว่าหลักการนี้ เสียดแทงใจหลายพรรคในเวลานี้อย่างมาก เพราะข้อเสนอหลักที่หลายพรรคต้องการคือ ความมั่นคงและเก้าอี้เกรดเอ!!