นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีในอดีต พร้อมบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องไม่ตกหลุมพรางประเด็น "นายกฯ คนใน - นายกฯ คนนอก" หรือ "นายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง - นายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง" อีก ดังนั้นการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 คือการชี้ชะตาประเทศว่าประเทศนี้จะต้องทนอยู่กับนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจ แล้วครองอำนาจมา 5 ปี แล้วยังสืบทอดอำนาจต่ออีกหลายปี หรือประเทศนี้ต้องการนายกฯ ที่เข้ามายุติการสืบทอดอำนาจ คสช. ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นการกำหนด "อนาคตใหม่" ของตัวเอง
[ ไม่มีนายกฯ คนใน ไม่มีนายกฯ คนนอก มีแต่นายกฯที่มายุติการสืบทอดอำนาจ คสช. กับนายกฯสืบทอดอำนาจ คสช. ]
โดยทั่วไป ระบบรัฐสภาในหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้บังคับว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.แต่ต้องเป็นบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม กรณีของประเทศไทยมีบริบทเฉพาะ ในยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ตามรัฐธรรมนูญ 2521 การเลือกตั้งเป็นเพียง “เครื่องประดับ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย เลือกตั้งกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง พรรคการเมืองต่างๆก็จะถูกกดดันและเชิญนายทหารเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ประกอบไปด้วยนายทหารและข้าราชการประจำ
ประเทศไทยต้องรอจนถึงการเลือกตั้ง 2531 ถึงมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส.ลำดับหนึ่ง เป็น ส.ส. และเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน แต่แล้ว รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดย รสช. ก็ทำลายระเบียบแบบนี้ลงอีก
รัฐธรรมนูญ 2534 มิได้บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. จากนั้นก็มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับการสืบทอดอำนาจของ รสช. ทำให้ประชาชนจับตาว่า รสช. ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2534 การเลือกตั้ง และพรรคทหาร เป็นกลไกหรือไม่?
แล้วสิ่งที่คาดหมายไว้ก็เกิดขึ้นจริง...
พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี “เสียสัตย์เพื่อชาติ” โดยการสนับสนุนของพรรคสามัคคีธรรม และอีกหลายพรรค
การสืบทอดอำนาจของ รสช. จบลงด้วยเหตุการณ์ “พฤษภาคม 2535”
เมื่อบรรยากาศประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง ประเด็นการบังคับให้นายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส./วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง/วุฒิสภาที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและทหาร ก็ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2540 บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง
แต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ต้องการทำลายหลักการนี้อีก
มีความพยายามเสนอให้มีข้อยกเว้นให้นายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องเป็น ส.ส. และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแรงต้านได้ สุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2550 ก็พบกันครึ่งทาง บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.และวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคนและมาจากการแต่งตั้งอีก 74 คน
ล่าสุด รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้จัดการแบบเบ็ดเสร็จ และถอยหลังเข้าคลองไปไกลกว่าที่เคยเป็นมา โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. วุฒิสภาชุดแรก 250 คนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีข้าราชการและทหารนั่งในวุฒิสภา แถมยังให้วุฒิสภาชุดนี้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ส่วนวุฒิสภาชุดต่อๆไป ก็มาจากการแต่งตั้ง
จะเห็นได้ว่า เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไร หลักการนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง จะต้องถูกทำลายลงทุกครั้งไป
ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ และที่มาของวุฒิสภา จึงเป็น “สมรภูมิ” ระหว่างพลังประชาธิปไตย VS พลังฝ่ายเผด็จการ/คณะนายทหารที่เข้าครองอำนาจด้วยรัฐประหาร ตลอดหลายทศวรรษ
เมื่อไรที่พลังฝ่ายประชาธิปไตยยึดกุมได้ รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง
แต่ถ้าพลังฝ่ายเผด็จการขึ้นครองอำนาจ รัฐธรรมนูญก็จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และให้ข้าราชการและทหารมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้
...
เมื่อวันที่ 29 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีจะตัดสินใจเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเสนอบัญชีของพรรคการเมืองหรือไม่ ว่า “มันต้องอยู่มั้ง ไม่มีอย่างอื่น ถ้าอยู่ คือ ต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯคนใน คนนอก วุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ”
ผู้คนต่างหันไปสนใจกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปตามช่องทางไหน?
มีพรรคการเมืองเสนอชื่อให้เป็น แล้วใช้เสียงวุฒิสภาช่วย?
หรือ ใช้บทเฉพาะกาลตามมาตรา 272 วรรค 2 ไม่ต้องมีพรรคการเมืองใดเสนอชื่อก็ได้?
ผมเห็นว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราต้องไม่ตกหลุมพรางประเด็น “นายกฯคนใน – นายกฯคนนอก” หรือ “นายกฯในบัญชีพรรคการเมือง-นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง” เป็นอันขาด
เพราะอะไร?
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไว้หมดแล้ว
รัฐบาลทหารชุดนี้ทราบดีว่า ไม่ช้าก็เร็วต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง ประเทศไทยไม่สามารถปกครองโดยรัฐบาลทหารได้ชั่วนิจนิรันดร์ เมื่อต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง พวกเขาจะทำอย่างไรให้ตนเองได้สืบทอดอำนาจต่อไป?
“รัฐธรรมนูญ - การเลือกตั้ง – พรรคการเมือง” เป็นเครื่องมือที่พวกเขาเลือกใช้ เหมือนดังที่คณะรัฐประหารรุ่นพี่ๆเคยทำมาในอดีต
รัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ
การเลือกตั้งที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ
พรรคการเมืองที่เป็น “นายหน้า” ลงไปหาที่นั่งในสภา เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ
ทั้งหมดนี้ จึงไม่ใช่เรื่อง “คนนอก-คนใน” แต่มันคือการยึดอำนาจ แล้วครองอำนาจเพื่อเขียนกติกา ให้ตนเองได้สืบทอดอำนาจต่อไป
เอาเข้าจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” มาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะมาจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ แถมยังครองอำนาจเป็นรัฐบาลเข้าสู่ปีที่ 5 ยาวนานกว่าวาระของรัฐบาลจากการเลือกตั้งเสียอีก
การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จึงไม่ใช่การถกเถียงกันว่า เราจะมีนายกฯ คนในหรือนายกฯคนนอก เราจะได้นายกฯ จากในบัญชีหรือนอกบัญชี
แต่การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ การชี้ชะตาประเทศว่าประเทศนี้จะต้องทนอยู่กับนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจ แล้วครองอำนาจมา 5 ปี แล้วยังสืบทอดอำนาจต่ออีกหลายปี หรือประเทศนี้ต้องการนายกฯที่เข้ามายุติการสืบทอดอำนาจ คสช
ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยที่คับแค้นคับข้องใจตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ขอให้เก็บความคับแค้นคับข้องใจไว้ให้แน่นในทรวงอก แล้วออกไประเบิดพลังแห่งความคับแค้นนี้ที่คูหาเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ด้วยการกากบาทยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช.
เมื่อพวกเขาต้องการใช้ “การเลือกตั้ง” เป็นเครื่องมือในการชุบตัวให้ตนเองครองอำนาจต่อไป
พวกเราก็จะใช้ “การเลือกตั้ง” เป็นเครื่องมือในการหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. เช่นกัน
ร่วมกันแสดงพลัง “พอกันที 5 ปี คสช.”
เราขอกำหนด “อนาคตใหม่” ของเราเอง