ไม่พบผลการค้นหา
กรมปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดโรคปากเท้าเปื่อยในโคนมพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

นายประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 พร้อมด้วย พ.อ.เพชรนรินทร์ โชติพินิจ รอง ผอ.รมน.จังหวัดสระบุรี นายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล นายอำเภอมวกเหล็ก นายชาญชัย จุลโลบล ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี นายปิยะ มีสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี นายมานพ บุญสม หัวหน้าด่านจังหวัดสระบุรี นายเสน่ห์ ประเสริฐ ปศุสัตว์อำเภอ ร่วมตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอมวกเหล็กที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคปากเท้าเปื่อยในโคนม เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมหาทางช่วยเหลือในทุกด้าน เบื้องต้นเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือในด้านการรักษา และภาระหนี้สิน ซึ่งทางภาครัฐได้รับปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

เบื้องต้นได้ให้คำแนะนำกับเกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม ส่วนการช่วยเหลือ ขณะนี้ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่จำพวกโค กระบือ แพะ แกะ สุกร หมูป่า และกวาง ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2562 ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก ได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวในพื้นที่หมู่ 2 บ้านคลองม่วงใต้ ตำบลลำพญากลาง ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2563 - 9 ก.พ. 2563 มีเกษตรกรแจ้งแล้ว 108 ราย โคนม 5,654 ตัว ที่ป่วยและรักษาหาย และอยู่ระหว่างการรักษา 897 ตัว

สำหรับสาเหตุที่เกิดโรคปากเท้าเปื่อย ในโคนม ช่วงนี้มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลต่ออาหารของวัว คือหญ้า ขาดแคลน และอาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้สภาพวัวอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการกินฝุ่นข้าวโพดที่มากจนเกินไปส่งผลต่อการย่อยของวัวโดยอำเภอมวกเหล็กมีพื้นที่กว้างและมีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่น มีเกษตรกร 2,390 ราย โคนม 99,897 ตัว ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ เช่น มูลสัตว์น้ำนม อาหารสัตว์ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมไม่ให้โรคปากและเท้าเปื่อยแพร่กระจายเป็นไปด้วยความยากลำบาก 

อีกทั้งยังมีเกษตรกรไม่แจ้งโรคหรือแจ้งโรคช้า ทำให้การเข้าควบคุมโรคล่าช้า โรคแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างรวมถึงฟาร์มส่วนใหญ่ไม่มีระบบป้องกันโรคเข้าฟาร์มตามมาตรฐาน และฟาร์มส่วนใหญ่ ไม่ผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เบื้องต้นได้แนะนำให้เกษตรกรควบคุมการเข้าออกฟาร์ม อย่างละเอียด มีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง หมั่นสังเกตอาการของวัว งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หลีกเลี่ยงให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม