ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' ลั่น '30 บาทรักษาทุกที่' คือภาคสองของ '30 บาทรักษาทุกโรค' พร้อมนำร่องใน กทม. และตั้งเป้าขยายไปทั่วประเทศภายในปี 2565 ยกระดับให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่' ในการประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคประชาชนยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยระบุว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำสิ่งที่ควรจะให้เกิดก็คือรักษาทุกโรค จนถึงวันนี้ 30 บาทรักษาทุกโรคสามารถรักษาได้ทุกโรคจริงๆ และตนให้สัญญาว่า 30 บาทรักษาทุกโรค จะพัฒนาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ รวมทั้งมีการพัฒนาบริการอื่นๆ รวมเป็น 4 เรื่องเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลรักษาบริการประชาชนให้เข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น 

"30 บาทรักษาทุกที่จะเป็นภาค 2 ของ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยบริการที่ยกระดับคือเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ป่วยอาการหนัก สามารถใช้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ตั้งแต่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาในเขต กทม.ก่อน และตั้งเป้าไว้ว่าใน 2565 จะขยายไปทุกจังหวัดของประเทศ" อนุทิน กล่าว

อนุทิน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการยกระดับบัตรทอง ความเข้าใจง่าย ๆ คือในเมื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว เพราะบางครั้งคนที่ไปทำงานต่างภูมิลำเนา เมื่อเจ็บป่วยต้องรับการรักษาก็ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ทำไมไม่รักษาทุกที่ไปด้วย ทำไมไม่ใช้ฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน ป่วยที่ไหนเข้ารับบริการที่นั่นได้เลย และไม่ต้องกังวลว่าคนจะเข้าแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อ สปสช.บอกว่ายินยอมให้รักษาทุกที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีโรงพยาบาลแทบทุกอำเภอ ก็ต้องยกระดับโรงพยาบาล ยกระดับการให้บริการประชาชนด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องไม่มีคำว่าโรงพยาบาลใหญ่โรงพยาบาลเล็ก จะต้องมีแต่คำว่าโรงพยาบาลดี โรงพยาบาลเจ๋ง โรงพยาบาลที่รักษาคนไข้ได้มากที่สุด  

อนุทิน ขยายความว่าสำหรับการรักษาทุกที่ก็คือโรคทั่วไป เบาหวาน ความดัน หัวใจ หวัด ไข้ แบบนี้ไปรักษาทุกที่ได้ โดยเพิ่มโรคยากๆ เข้าไปด้วยคือมะเร็ง เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งถ้าไม่เปิดให้รักษาทุกที่ ต้องรอคิว บางครั้งไม่ทันได้รักษาก็เสียชีวิตไปก่อน ดังนั้นประชาชนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง จะสามารถตรวจและรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ไม่ต้องรอคิวเหมือนที่ผ่านมา ไม่ต้องถูกจำกัดการใช้สิทธิตามหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไปเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง 

"กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้โอกาสในช่วงนี้จัดหาเครื่องฉายรังสีมะเร็งอีก 7 เครื่องเพื่อไปไว้ตามศูนย์มะเร็งทั่วประเทศ ด้วยความหวังว่าจากนี้ไปผู้ป่วยที่ต้องรับการฉายรังสีด้วยโรคมะเร็งจะสามารถไม่ต้องเดินทางไกลไปมาและคิวก็จะน่าจะสั้นลง ซึ่งเมื่อเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีอนุมัติโดยไม่ถามสักคำ" อนุทิน กล่าว 

นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของผู้ป่วยในก็จะสามารถใช้บริการหน่วยบริการใดหรือโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวหรือต้องรอเอกสารส่งตัวซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบว่าใช้เวลานานมาก โดยจะเริ่มในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ ก่อน และตั้งเป้าให้ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศในปี 2565 เช่นกัน รวมทั้งและเรื่องการแจ้งเปลี่ยนหน่วยบริการประจำโดยไม่ต้องรอระยะเวลาเกิดสิทธิ แจ้งย้ายแล้วเดินไปที่ไหนได้เลยไม่ต้องรอการอนุมัติ โดยขณะนี้กำลังเร่งยกระดับฐานข้อมูล และพร้อมจะให้บริการได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป 

"การยกระดับ 4 บริการนี้จะเป็นการพัฒนางานบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยให้เป็นการบริการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกดูแลรักษาบริการประชาชนให้เข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และหวังว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพของประชาชนเต็มที่ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงคณะรัฐมนตรีทุกคน ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข ขอเพียงมีเหตุผลที่จำเป็น คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อและมุ่งหวังว่าเมื่อประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความเข้าใจระบบการสาธารณสุข มีความเข้าใจเรื่องการรักษาตัวเองแล้ว ประเทศไทยจะมีความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม ทางเศรษฐกิจ และความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ ถ้ามีจิตใจที่ดีมีสุขภาพที่ดี มีระบบการรักษาที่ดี ทุกคนก็อยากจะไปทำมาหากินสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัว และประเทศไทยจะพลิกฟื้นจากวิกฤตโควิดก่อนคนอื่น" อนุทิน กล่าว 

อนุทิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ กทม. ต้องขออภัยกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ สปสช.เต็มที่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. รีบเอาหน่วยงานในสังกัดเข้ามาให้บริการเพื่อให้เกิดความไม่สะดวกน้อยที่สุดและขอให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :