ไม่พบผลการค้นหา
SCB EIC แจกแจงทิศทางอุตสาหกรรมยางพาราไทยปี 2563 ชี้รับแรงกดดันจากราคาตลาดโลกที่ทรงตัวต่ำ ผลผลิตสูง ราคาตก และปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC คาดปี 2563 ราคายางพาราในตลาดโลกน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 1.6-1.8 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม โดยผลผลิตยางพาราโลก และการใช้ยางพาราโลก มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ 2 จากปี 2562 ขณะที่กลุ่มศึกษายางนานาชาติ หรือ International Rubber Study Group คาดว่า ผลผลิตยางพาราโลกในปี 2563 น่าจะแตะระดับ 14.0 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 2 จากปี 2562 นับว่ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว จากในอดีตที่ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน/ปี 

โดยคาดว่า ในปี 2563 ประเทศผู้ผลิตยางพาราหลักของโลก ทั้งไทย อินเดีย จีน และ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จะยังคงมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากได้อัตราผลผลิต (Yield) ที่ดี ยกเว้นมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่คาดว่า ผลผลิตจะลดลงจากปัญหาการระบาดของโรคใบร่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง และส่งผลให้ผลผลิตลดลง

สำหรับการใช้ยางพาราในตลาดโลกนั้น ส่วนใหญ่คือราวร้อยละ 70 ใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งในจำนวนนี้ ราวครึ่งหนึ่งมาจากความต้องการใช้ในจีน โดยคาดว่าในปีนี้ การใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยางล้อในจีนน่าจะอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 2 จากปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับภาวะซบเซาของตลาดรถยนต์ในจีน 

อย่างไรก็ดี ยังมีแรงหนุนจากอินเดีย ที่การใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยางล้อน่าจะขยายตัวร้อยละ 4 จากปี 2562 รวมถึงอียู และสหรัฐอเมริกา ที่การใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยางล้อน่าจะขยายตัวในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ 3 จากปี 2562 ซึ่งจะช่วยพยุงให้ภาพรวมการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยางล้อทั่วโลกในปีนี้ ยังทรงตัวอยู่ที่ 9.9 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ในส่วนของการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การแพทย์ ก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นอีกประมาณร้อยละ 30 ของการใช้ยางพาราทั่วโลกนั้น คาดว่าในปีนี้ จะมีการใช้ยางพาราประมาณ 4.1 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 6 จากปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนจากการอุปโภคในประเทศที่มีฐานประชากรขนาดใหญ่ อย่างอินเดีย และจีน รวมถึงการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางในประเทศที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ อย่างมาเลเซีย และไทย ซึ่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก

AFP-ยางพารา-กรีดยาง-ราคายาง-น้ำยาง-ยางดิบ.jpg

จากอัตราการขยายตัวของผลผลิตยางพาราโลก ที่อยู่ในระดับเดียวกับการใช้ยางพารา จึงส่งผลให้สต็อกยางพาราโลกจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และกดดันราคายางพาราในตลาดโลก ซึ่งอีไอซีคาดว่า ในปี 2563 ราคายางพาราในตลาดโลกน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 1.6-1.8 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม (48-54 บาทต่อกิโลกรัม) ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งราคาอยู่ที่ 1.65 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม (49.50 บาทต่อกิโลกรัม) สอดคล้องกับทิศทางราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในสิงคโปร์ (Singapore Commodity Exchange : SICOM) ที่ยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ รวมถึงมุมมองของธนาคารโลก ที่ประเมินราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ของมาเลเซีย ว่าน่าจะอยู่ที่ 1.7 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งราคาอยู่ที่ 1.65 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม

สำหรับราคายางพาราในประเทศ อีไอซีมองว่า จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปี 2562 โดยนอกจากผลกระทบจากราคาโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแล้ว ยังได้รับแรงกดดันจากผลผลิตในประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกด้วย เนื้อที่กรีดยางพาราของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัว โดยเป็นผลมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในปี 2558 ซึ่งช่วงก่อนหน้านั้น ราคายางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันชั้น 3 สูงเกินกว่า 100 บาท/กิโลกรัม โดยปัจจุบันสามารถเปิดกรีดได้ และยังเป็นช่วงอายุที่ให้ผลผลิต (Yield) ดี ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว จะยังกดดันให้ราคายางพาราในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การขยายระยะเวลาโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐไปจนถึงเดือนกันยายน 2565 จากเดิมที่โครงการจะสิ้นสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ในปี 2562 หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ใช้น้ำยางสดรวมกัน 129,291 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของผลผลิตยางพาราโดยรวมทั้งประเทศ 

สำหรับปี 2563 ภาครัฐกำหนดเป้าหมายการใช้น้ำยางสดในหน่วยงานต่าง ๆ ลดลงมาอยู่ที่ 90,356 ตัน อีไอซีจึงมองว่า โครงการดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการใช้ผลผลิตได้บางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ดี ราคายางพาราโลกที่จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และผลผลิตในประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อราคายางพาราในประเทศในปี 2563 โดยคาดว่า ราคายางแผ่นดิบมีแนวโน้มอยู่ที่ 43-45 บาท/กิโลกรัม และราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 มีแนวโน้มอยู่ที่ 46-48 บาท/กิโลกรัม ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปี 2562

อีไอซีมองว่า การส่งออกยางพาราของไทยในปี 2563 จะหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ตามความต้องการจากจีนที่ชะลอลง อีกทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก การส่งออกยางพาราไทยไปจีนในช่วง 11 เดือนของปี 2562 อยู่ที่ 1.1 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงจีนนำเข้ายางพาราจากประเทศอื่น ๆ อย่าง CLMV ทดแทนการนำเข้าจากไทย

จากการส่งออกยางพาราไทยที่ยังพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูงประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการส่งออกยางพาราไทยโดยรวม ประกอบกับในปี 2563 ยังไม่มีปัจจัยบวกมาช่วยหนุนการส่งออกยางพาราไทยไปจีน ขณะที่จีนหันมานำเข้ายางพาราจากกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ส่งออกไปยังตลาดจีน อย่างเวียดนาม ก็พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปลายปี 2562 ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินดองเวียดนามแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 21 ส่งผลให้ไทยน่าจะยิ่งสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก 

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการส่งออกยางพาราไทยในภาพรวมน่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ อีไอซีคาดว่า ปริมาณการส่งออกยางพาราไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ 3.1 ล้านตัน หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางพาราไทยนั้น นอกจากจะได้รับผลกระทบจากราคาส่งออกที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับราคายางพาราโลกแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเหมือนในระยะหลายปีที่ผ่านมา

ยางพารา

อย่างไรก็ดี การส่งออกยางพาราไทยยังได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยการที่สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ายางล้อจากจีน นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกยางล้อของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า ในระยะที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกานำเข้ายางล้อจากไทยมากขึ้น เพื่อชดเชยการนำเข้าจากจีนบางส่วน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกยางล้อไทยไปสหรัฐอเมริกาในช่วง 11 เดือนของปี 2562 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยคาดว่า ผู้ส่งออกยางล้อไทยไปสหรัฐอเมริกาน่าจะได้รับอานิสงส์นี้ต่อเนื่องในปี 2563 เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนน่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป

ขณะเดียวกันจีนยังมีสัดส่วนการนำเข้ายางพาราจากกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการส่งออกยางพาราไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนจีนได้เข้าไปลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในกลุ่มประเทศ CLMV ตั้งแต่ปี 2549 เพื่อรองรับความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน เนื่องจากต้นทุนการเพาะปลูกในกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนค่าแรง

อีกทั้งจีนยังต้องการกระจายการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบไปในหลากหลายประเทศ นอกเหนือจากไทย โดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลให้จีนค่อย ๆ มีสัดส่วนการนำเข้ายางแผ่นรมควันจากไทยลดลง จากในปี 2556 ที่นำเข้าร้อยละ 82 ของปริมาณการนำเข้าโดยรวม ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 48 ในปี 2062 สวนทางกับการนำเข้ายางแผ่นรมควันจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่เพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 13 ในปี 2556 มาอยู่ที่ร้อยละ 47 ในปี 2562

ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องจับตาแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราของนักลงทุนจีนในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การขยายพื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงการเข้าซื้อและก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งสะท้อนถึงกลยุทธ์ของจีนที่ต้องการจะควบรวมธุรกิจยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กอปรกับความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ อาจส่งผลให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของโลกในอนาคตอันใกล้ โดยใช้กลุ่มประเทศ CLMV เป็นฐานการผลิตได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

แม้ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่อีไอซีมองว่า อุตสาหกรรมยางพาราไทยยังต้องอาศัยการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยปัจจุบันมีมาตรการภาครัฐช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการยางแห้ง และสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำเพื่อขยายหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้เกษตรกร และช่วยให้เกิดการใช้ผลผลิตยางพาราในเบื้องต้น

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า ความท้าทายที่อุตสาหกรรมยางพาราไทยกำลังเผชิญ ทั้งราคาในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการส่งออกที่ยังพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูง ยังต้องอาศัยการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดอุปทานยางพาราที่จะออกสู่ตลาด การเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ การขยายตลาดส่งออกยางพาราใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อแปรรูปยางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) สร้างความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราอื่น ๆ ในการลดอุปทานที่จะออกสู่ตลาด เพื่อผลักดันให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบัน ภาครัฐกำหนดแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) โดยตั้งเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงจาก 23.3 ล้านไร่ ในปี 2559 ให้เหลือ 18.4 ล้านไร่ใน 20 ปีข้างหน้า 

นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในฐานะประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council : ITRC) แต่ก็เป็นเพียงความร่วมมือดำเนินมาตรการลดการส่งออกยางพารา (Agreed Export Tonnage Scheme : AETS) ขณะที่ผลผลิตจากทั้ง 3 ประเทศรวมกันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่สามารถผลักดันให้ราคายางพาราปรับเพิ่มสูงขึ้นได้เท่าที่ควร ซึ่งอีไอซี มองว่า ITRC จำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือไปสู่การลดพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด อีกทั้งยังต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปัจจุบัน ภาครัฐกำหนดเป้าหมายการใช้น้ำยางสดในหน่วยงานต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้ทำถนน และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางจราจร ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลผลิตยางพาราได้บางส่วน อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า ควรส่งเสริมให้นำยางพาราไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น งานวิศวกรรม แผ่นยางปูพื้น ยางแนวกันกระแทก แผ่นยางรองรถไฟ ลานอเนกประสงค์ เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยระบายผลผลิตยางพาราออกจากตลาดได้มาก อีกทั้งจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานการก่อสร้างโดยใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการนำยางพาราไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป

3) ขยายตลาดส่งออกยางพาราไปยังประเทศที่มีศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก โดยนอกจากในปี 2563 ผู้ส่งออกยางล้อไทยจะได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ช่วยหนุนการส่งออกยางล้อไทยไปสหรัฐอเมริกาแล้ว อีไอซีมองว่า อีกหนึ่งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและน่าสนใจ ได้แก่ ตุรกี ซึ่งนำเข้ายางพาราจากประเทศต่าง ๆ แตะระดับ 200,000 ตัน/ปี

แม้ตุรกีจะยังไม่ใช่ประเทศผู้นำเข้ายางพาราที่สำคัญของโลก โดยมีสัดส่วนการนำเข้ายางพาราประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณการนำเข้ายางพาราโดยรวมของโลก แต่ก็พบว่า ตุรกีนำเข้ายางพาราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของปริมาณการนำเข้ายางพาราของตุรกีตั้งแต่ปี 2557-2561 อยู่ที่้ร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซียมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของปริมาณการนำเข้ายางพาราของตุรกีโดยรวม รองลงมาเป็นการนำเข้าจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของปริมาณการนำเข้ายางพาราของตุรกีโดยรวม

ทั้งนี้ การส่งออกยางพาราไทยไปตุรกีอยู่ที่ประมาณ 60,000 ตันต่อปี แม้จะถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการส่งออกไปจีนซึ่งสูงกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี และการขยายการส่งออกยางพาราไทยไปตลาดตุรกีก็ยังไม่สามารถชดเชยการส่งออกยางพาราไทยไปจีนที่ลดลงได้ แต่ก็พบว่า การส่งออกยางพาราไทยไปตุรกีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของปริมาณการส่งออกยางพาราไทยไปตุรกีตั้งแต่ปี 2557-2561 อยู่ที่ร้อยละ 9 ต่อปี การขยายตลาดส่งออกยางพาราไปยังตุรกีจึงน่าจะช่วยระบายสต็อกยางพาราในประเทศได้ส่วนหนึ่ง

อีกทั้ง ไทยอาจอาศัยจังหวะที่ผลผลิตยางพาราของอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคใบร่วง เร่งส่งออกยางพาราไปตุรกี ควบคู่ไปกับการเร่งส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราปลายน้ำอื่น ๆ เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยในตุรกีต่อไป และสำหรับในระยะต่อไป ผู้ส่งออกยางพาราไทยน่าจะได้อานิสงส์จากการเร่งผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–ตุรกี ให้เสร็จภายในปีนี้อีกด้วย

4) แปรรูปยางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาจากการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบโภคภัณฑ์ทางการเกษตร (Agriculture Commodity) ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราในรูปแบบสินค้ากลางน้ำ ได้แก่ ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น ขณะที่การแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ยังไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่เป็นการนำไปผลิตยางล้อ ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายจากทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เริ่มมีแนวโน้มเติบโตอย่างชะลอตัวลง รองลงมาเป็นการนำน้ำยางข้นไปแปรรูปเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ ซึ่งทิศทางตลาดยังมีแนวโน้มสดใสสอดคล้องกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำยางข้นไปแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน เบาะรองนั่ง รองเท้า เป็นต้น เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ทั้งนี้อีไอซีมองว่า การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าอุปโภคกลุ่มดังกล่าวให้ตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภค เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จะเป็นการแปรรูปยางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสามารถขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ และเป็นตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการจับจ่ายสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตนเอง

ยาง.jpg

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลดอุปทานยางพาราที่จะออกสู่ตลาด การเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ การขยายตลาดส่งออกยางพาราใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อแปรรูปยางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ยังต้องอาศัยการบูรณาการการทำงาน ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การแปรรูป การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาด ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน