ไม่พบผลการค้นหา
ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 'รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัันทร์โอชา' ช่วงกลางเดือนก.พ. นำโดยพรรคเพื่อไทย เรื่อยจนถึงญัตติการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และการปฏิรูปสถานบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสมพระเกียรติยศอันสูงสุด มิใช่เรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทยร่วมสมัย

หากมองย้อนกลับไปศึกษาจากบทเรียนของคณะกรรมการปรองดองชุดที่ผ่านมาอย่าง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมี 'คณิต ณ นคร' เป็นประธาน ก็จะพบว่า ประเด็นข้างต้นทั้งหมดล้วนได้ถูกนำเสนอให้เกิดการแก้ไข เพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังของสังคมการเมืองไทยไว้อย่างเป็นระบบ 

การเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ถูกวิพากษ์อย่างกว้างขวาง มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่อาจเป็นที่ยอมรับต่อสังคมไทยได้ เนื่องจากมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะคู่ขัดแย้งจากเหตุสลายการชุมนุม เม.ย. - พ.ค. 2553 อีกทั้งโครงสร้างคณะกรรมการก็ถูกกล่าวหาว่า คือกลุ่มคนที่มีอคติกับพรรคเพื่อไทยอย่างเด่นชัด ตลอดจนเนื้อหาสาระของรายงานที่มีลักษณะอำพรางความจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง สวนทางกับรายงานฉบับ ศปช. จากภาควิชาการ 

ทว่าส่วนหนึ่งของแนวทางการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านด้วยการเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกการใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งนี้ ก็ยังมีสาระสำคัญอีกหลายมิติที่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นถกเถียงในสังคมไทยที่หลบซ่อนอยู่ในส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะของรายงานจำนวน 14 ข้อ โดยมี 2 ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้กับการทำความใจสภาพความขัดแย้งทางการเมืองไทยในห้วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี คือ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกองทัพและทหาร ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ  

สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (หน้า 256) 

​1) คอป. ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่าการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองจะยิ่งทำให้สถาบันตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ คอป. เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ คอป.ว่า ในห้วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ ทุกฝ่ายควรแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันที่อยู่เหนือจากความขัดแย้งทางการเมือง 

​2) “คอป.เรียกร้องให้นักการเมือง พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการให้เกิดผลอันเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง โดยอาจกำหนดชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติ”   

3) เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในสถานะที่สามารถดำรงพระเกียรติยศได้อย่างสูงสุดภายใต้รัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันของสังคมเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

การแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์  

1) การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง "นอกจากจะไม่เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในชาติด้วย" คอป. จึงเสนอแนะให้ให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย

2) คอป.เห็นว่า มาตรา 112 มีโทษสูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่มีขอบเขตทางกฎหมายที่ชัดเจน และเปิดกว้างให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษดำเนินคดีได้ ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้กลั่นแกล้งหรือกำจัดศัตรูทางการเมือง ทั้งนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นละเอียดอ่อน การแก้ไขกฎหมายของรัฐบาล และ "รัฐสภา" จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูงไม่ให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งต้องมีกระบวนการที่เปิดกว้างทุกภาคส่วน 

3) คอป. เสนอแนะว่า ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้มาตรา 112 การใช้อำนาจรัฐและหน่วยงานด้านยุติธรรมพึงระวังการใช้กฎหมายนี้ในเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ควรดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้จาบจ้วง แต่ไม่ควรใช้อย่างเคร่งครัดเกินสมควรขาดทิศทางไปถึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ย่อมได้รับการคุ้มครอง เช่น การแสดงความเห็นอย่างสุจริต การวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ 

4) คอป. เห็นว่า รัฐบาลต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันมีเอกภาพผ่านการบูรณาการ มีกลไกกำหนดนโยบายที่เหมาะสม เพื่อจำแนก กลั่นกรองคดีหมิ่นสถาบัน ตามความหนักเบา เจตนา แรงจูงใจ

5) คอป. เน้นย้ำความสำคัญของอัยการในการใช้ดุลพินิจสั่งคดี อัยการคือผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจตามหลักสากล แม้จะมีหลักฐานเพียงพอในการสั่งฟ้อง แต่ควรต้องให้น้ำหนักเปรียบเทียบผลดีผลเสียในการดำเนินคดี ตามแนวทางที่ใช้ในประเทศซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เนเธอร์แลนด์ 

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกองทัพและทหาร (หน้า 261)

1) คอป.ขอให้กองทัพวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (Civilian Control) เพราการรัฐประหารทำให้สังคมไทยขาดโอกาสเรียนรู้การแก้วิกฤตการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย จนทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย 

2) รัฐบาลต้องงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหารเข้าจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และการชุมนุมของประชาชนโดยเด็ดขาด เนื่องจากกองทัพถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันประเทศ ไม่ใช่ความขัดแย้งภายใน 

3) รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบการควบคุมกำกับอาวุสงครามและอาวุธขนาดเล็กของกองทัพให้มีประสิทธิภาพ

4) กองทัพต้องเข้มงวดด้านวินัยต่อ ทหารนอกแถว ไม่ว่าจะชั้นผู้น้อยหรือนายพล ที่มีบทบาทกับกลุ่มการเมืองผลประโยชน์ ธุรกิจสีเทาหรือผิดกฎหมาย อันทำให้เสียเกียรติภูมิ ซึ่งควรแก้พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้สามารถลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทุกระดับรวมทั้งนายทหารระดับนายพลได้

รายงานของ คอป.ฉบับนี้ นอกจากจะให้คำตอบว่า ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และลิ่วล้อที่ชอบแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถทำได้ โดยไม่ไม่มีความจำเป็นจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว 

คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่อยู่ระหว่างการตั้งไข่ จากการริเริ่มโดยพรรคประชาธิปไตย์ นำโดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ยังคงไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคู่ขัดแย้งอย่างพรรคร่วมฝ่ายค้านและเครือข่ายม็อบราษฎร 2020 ในการตอบรับเข้าร่วม ก็ควรหยิบยกข้อเสนอแนะเหล่านี้จาก คอป.ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาขึ้นพิจารณาและทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติ

เพราะอย่างน้อยที่สุดจะทำให้เห็นถึงความจริงใจ อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าสู่ความปรองดองภายในประเทศอย่างแท้จริง 

อ้างอิง : รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง