วันนี้ (7 ธันวาคม 2567) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากรายงานติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าเนื้อไก่ พบว่า ในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกเนื้อไก่โลกจะเพิ่มสูงที่สุดโดยจะเติบโต 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน และไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก จะมีการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
นายอนุกูล เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าไก่ ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.–ต.ค.) มูลค่ารวม 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (126,976 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไก่ปรุงสุกไปตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ซึ่งการส่งออกสินค้าไก่ของไทยประกอบด้วย
1.ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 1,131.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (39,967 ล้านบาท) ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่
1) ญี่ปุ่น สัดส่วน 36.85% ของมูลค่าส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย
2) จีน สัดส่วน 32.39%
3) มาเลเซีย สัดส่วน 14.37%
4) เกาหลีใต้ สัดส่วน 4.37%
5) ฮ่องกง สัดส่วน 3.13%
.
2.ไก่แปรรูป มูลค่าส่งออก 2,461.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ (87,009 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7.4% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่
1) ญี่ปุ่น สัดส่วน 47.58% ของมูลค่าส่งออกไก่แปรรูปของไทย
2) สหราชอาณาจักร สัดส่วน 27.21%
3) เนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 6.13%
4) เกาหลีใต้ สัดส่วน 4.47%
5)สิงคโปร์ สัดส่วน 4.24%
.
ในปี 2568 การส่งออกเนื้อไก่ของโลกและไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อื่น ๆ เช่น บราซิล สหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูป อันดับที่ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เคยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก โดยในปี 2566 ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 25.8% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก รองลงมา คือ จีน สัดส่วน 11.0% เยอรมนี สัดส่วน 9.3% โปแลนด์ สัดส่วน 8.9% และเนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 8.6% ซึ่งไทยจะต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ โดยต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ดูแลต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยให้เหมาะสมเพื่อสินค้าไทยแข่งขันได้ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค