การบูชาพระเครื่อง ผ้ายันต์ หรือเครื่องรางของขลังเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดมา ไม่ว่ามิติของสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ที่พึงทางใจเหล่านี้ก็ยังรองรับความอ่อนไหวในจิตใจของมนุษย์ตลอดมา
ในช่วง 1 – 2 ปี ที่ผ่านมา หากจะมีสิ่งใดเปลี่ยนไปเกี่ยวกับธุรกิจความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ตะกรุด’ ก็คงหนีไม่พ้นการกำเนิดขึ้นของรูปแบบการพกเครื่องรางของขลังเหล่านี้ ที่กลายเป็นทั้งเครื่องรางและเครื่องประดับในเวลาเดียวกัน
‘วอยซ์ออนไลน์’ สัมภาษณ์เจ้าของแบรนด์ไลลา อมูเลตส์ ( LEILA AMULETS)แบรนด์เครื่องรางของขลังที่โด่งดังที่ผสมผสานวัฒนธรรมตะกรุดและเครื่องรางโบราณเข้ากับการออกแบบจิวเวอร์รี่ มีราคาตามที่แสดงในหน้าเพจเฟซบุ๊ก เริ่มต้นที่ 1,990 บาท เป็นแบรนด์เครื่องรางเครื่องประดับที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 1.03 แสนบัญชี และมีหน้าร้านถึง 6 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว, เอ็มโพเรียม, สยามสยามเซ็นเตอร์, เซ็นทรัล ชิดลม, ร้านท็อปช็อปในเซ็นทรัลเวิลด์ และคิง เพาเวอร์
กระแสดีเพราะผลลัพธ์โดน
(ซ้าย: เจนจิรา ตรีวิชาพรรณ, ขวา: จัทรา จันทร์พิทักษ์ชัย)
แม้ไลลาจะเพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2561 แต่ปัจจุบันลูกค้าแน่นทุกสาขา และการันตีความนิยมโดยมีคนในวงการบันเทิงมาอุดหนุนไม่ขาดสาย ‘เจนจิรา ตรีวิชาพรรณ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ไลลา กล่าวว่า ตนและหุ้นส่วนไม่ได้คิดว่ากระแสจะดีขนาดนี้ในตอนแรก เพราะเป็นธุรกิจที่ทำกันในครอบครัวเพื่อให้กับคนที่รู้จักกัน แต่มองว่าที่ไลลาได้รับความนิยมขนาดนี้ในปัจจุบัน มาจากการบอกกันปากต่อปากของลูกค้าที่มาใช้บริการและเห็นผลมากกว่า
สำหรับกลุ่มลูกค้ามีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากจะเป็นวัยทำงาน
‘จันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย’ หุ้นส่วนอีกหนึ่งคน กล่าวว่า เนื่องจากลูกค้าของไลลามีหลายช่วงอายุ จึงมีความแตกต่างด้านความเชื่อให้เห็นได้ชัด สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าเครื่องรางเป็นเรื่องโบราณ ดูไม่น่าเชื่อถือ หรือดูเป็นการเล่นของ ขณะที่วัยรุ่นบางส่วนก็มีความกลัวไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าจะมีความกล้ามากกว่า
จันทรา เสริมว่าเมื่อกลุ่มลูกค้ามีความหลากหลาย แบรนด์ก็ต้องปรับตัวให้ทัน มีวิธีการให้ข้อมูลสินค้าให้ตรงกับแต่ละกลุ่มวัย โดยหากเป็นผู้ใหญ่ก็จะต้องให้ความรู้ในอีกมุมนึง ถ้าเป็นเด็กก็ต้องให้ความรู้เขาในอีกมุมนึง แต่ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด ยอมมีความหวังและต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจเหมือนกันทั้งสิ้น
“เมื่อมีความกลัว ทุกคน ต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ทุกอายุต้องการความหวังหมดต้องการความช่วยเหลือเหมือนกันหมด” จันทรา กล่าว
เมื่อเครื่องรางแยกร่างเป็นเครื่องประดับ
หนึ่งในความโดดเด่นของแบรนด์เครื่องรางไลลาคือความสวยงามของตะกรุดและกำไลข้อมือที่นำมาผสมกันจนดูเหมือนเป็นเครื่องประดับชิ้นดีมีสไตล์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดขายให้กับแบรนด์นอกจากสรรพคุณที่ลูกค้าหลายคนใช้แล้วเห็นผล
(ภาพจาก: Instagram)
จันทรา ซึ่งเคยออกแบบเครื่องประดับภายใต้แบรนด์ OLVD มาก่อน กล่าวว่า สำหรับการมาสร้างความสวยงามให้กับเครื่องรางเป็นเพียงการทำให้ลูกค้าสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และย้ำว่าเครื่องรางทั้งหมดที่มีการปลุกเสกทางร้านไม่ได้ไปแตะต้องใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงการเพิ่มความสวยงามให้กับรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
“เหมือนทำให้เขานำมาใส่ได้ในปัจจุบัน เราเอาความเก่าที่มีอยู่ กับความใหม่ ณ ปัจจุบันมาบวกกัน” จันทรา กล่าว
ความขลังของความศรัทธา
ในฐานะเจ้าของแบรนด์และในฐานะคนที่เชื่อในเครื่องรางของคลัง จันทรา กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการใช้ชีวิต เป็นสัญลักษณ์ที่คอยเตือนให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เจนจิรา เสริมว่า ตนเองก็ผูกพันอยู่กับความเชื่อมาตั้งแต่เด็ก การมีเครื่องรางติดตัวจึงทำให้รู้สึกอุ่นใจ อีกทั้งยังสวยด้วย
ขณะที่ ‘ธนิตา กุลางกูร’ ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของไลลา ก็มองว่าตะกรุดเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยเสริมในการใช้ชีวิตมากกว่าจะเป็นปัจจัยหลัก เพราะว่าสุดท้ายแล้วก็ยังต้องขึ้นอยู่กับเจ้าของตะกรุดด้วยว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ประสบความสำเร็จตามสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้
“มันก็ต้องอยู่ที่ตัวเราด้วย ว่าเรายังไง ไม่ใช่ว่าตะกรุดมันจะช่วยได้ทุกอย่าง” ธนิตา กล่าว
ลูกค้าอีกหลายรายของไลลา ไม่ได้เริ่มต้นบูชาเครื่องรางเหล่านี้จากความเชื่อเต็มร้อยและยังตั้งข้อสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์และสรรพคุณกล่าวอ้างด้วยซ้ำ
‘ธฤตรดา บุญจันทร์’ กล่าวว่า เธอเริ่มรู้จักไลลาผ่านเพื่อนและตั้งข้อสงสัยมากมาย ก่อนตัดสินใจเริ่มบูชา ซึ่งตามสิ่งที่เธอเล่า “ล่าสุดก็ถูกหวย เลขหน้า 3 ตัว 2 ใบ ก็เลยกลับมาเอาอีก กลับมาบูชาอีก” คงกล่าวได้ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ทำให้เธอสมปรารถนา ทำให้เธอเกิดความศรัทธาในตะกรุดข้อมือเป็นที่เรียบร้อย
หากเราจะพยายามสรุปใจความสำคัญ จากธุรกิจความเชื่อที่ไม่เพียงดำรงอยู่ท่ามกลางความผันแปรของสภาวะสังคม แต่ยังแทรกตัวขึ้นมาเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของธุรกิจการค้าเสรี ก็คงจะเป็นความจริงที่ว่าการดำรงอยู่ของสินค้าความเชื่อเหล่านี้ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าความเปราะบางในจิตใจมนุษย์ยังคงอยู่และมนุษย์ยังคงขวนขวายการพึ่งพิงสิ่งที่ ‘มองไม่เห็น’
ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถพูดว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นเรื่องถูกหรือผิดหรือไม่ เพราะทุกคนควรมีเสรีภาพในความเชื่อของตัวเองและไม่ละเมิดสิทธิความเชื่อของคนอื่นเพียงเพราะความแตกต่างทางความคิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :