แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดเวทีดีเบต "เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน" โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองที่ร่วมดีเบตได้แก่ วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ พาลินี งามพริ้ง จากพรรคมหาชน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากพรรคสามัญชน และพรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ โดยผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าได้เชิญตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว แต่พรรคพลังประชารัฐไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเวทีดีเบต
วัฒนา: พรรคเพื่อไทยมีนโยบาย 3 เรื่องที่จะทำหลังเลือกตั้ง คือ "3 R" ได้แก่ 1. Restore economy ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2. Return power to the people คืนอำนาจให้ประชาชน 3. Reform government/authorities หรือปฏิรูปรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ
อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่พรรคจะต้องทำก็คือ ยกเลิกกฎหมายที่กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานขัดกับหลักนิติธรรมจะต้องถูกยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทการเมืองโลก ต้องสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UDHR)
ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือที่ราคาถูกที่สุดในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่พรรคจะต้องทำคู่กันไปด้วยก็คือ การปฏิรูปองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกองทัพ ไปจนถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
อลงกรณ์: ประชาธิปัตย์จะทำ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. จัดตั้งกรรมการระดับชาติเพื่อจัดทำกรอบหลักสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่วางกรอบการทำงานระดับชาติ เพราะไม่ต้องการให้ไทยถูกตำหนิติเตียนจากสหประชาชาติจากปีที่แล้ว นี่จึงเป็นภาพลักษณ์ที่ไทยต้องฟื้นฟู 2. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่สำคัญก็คือการปฏิรูปตำรวจ จะเหลือเพียงรวจส่วนกลาง นอกนั้นจะเป็นตำรวจจังหวัด หากทำให้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำอยู่ในกรอบและมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรบประชาชน 3. ปฏิรูปกฎหมาย
พาลินี: พรรคมหาชนมีนโยบายมุ่งมั่นแก้ปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมนั่นคือความเท่าเทียมในทุกมิติทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงเรื่องความเป็นพลเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหลักการของสิทธิมนุษยชน
พรรคมหาชนพร้อมสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจัดตั้งรัฐบาล เพราะเคารพเสียงของประชาชนส่วนความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ก็จะต้องทำให้คนเท่าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม พรรคมหาชนมีนโยบายเศรษฐกิจออนไลน์ ให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้โดยใช้เว็บท่าของไทยเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเว็บต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายปลดล็อกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนด้อยโอกาสและผู้ให้บริการทางเพศ อีกทั้งยังส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศด้วย
เกรียงศักดิ์: นโยบายที่โดดเด่นของพรรคสามัญชนคือ 1. นโยบายสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองปกป้องสิทธิ ป้องกันการซ้อมทรมาน คุ้มครองไม่ให้บุคคลสูญหาย เนื่องจากผู้ปฏิบัติงาน สมาชิก และชุมชนของสมาชิกของพรรคเป็นนักปกป้องสิทธิกันจำนวนมาก 2. เรื่องผู้หญิง ผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ผู้หญิงต้องมีสิทธิในการตัดสินใจในเรื่องร่างการของตัวเอง รวมถึงการทำแท้ง 3. ทบทวนกฎหมายอาญาที่จำกัดสิทธิและกีดกันแรงงานข้ามชาติและพนักงานบริการทางเพศในการเข้าถึงสวัสดิการ รวมถึงกีดกันผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้าถึงสิทธิในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนพลัดถิ่น ผู้พิการ
ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำอันดับแรกคือการแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ และขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ยกเลิกคำสั่งคสช.ทั้ง 35 ฉบับ ยุติการดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักศึกษา สื่อมวลชน ทนายความ รวมถึงใครก็ตามที่พยายามจะพูดความจริงในสังคม รวมถึงยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรม คนไทยทุกคน คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา
พรรณิการ์: สิ่งที่จะต้องทำอันดับแรกก็คือแก้ไขจุดที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหนักหน่วง รุนแรงและต่อเนื่องที่สุดคือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายแรกคือการยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้มา 14 ปี กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่สามารถแก้ไขคนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก งบประมาณ 3 แสนล้านและความเสียหายทางทรัพย์สินอื่นๆ ควรใช้กฎหมายปกติ เพื่อไม่ให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติและยิ่งสร้างความคับแค้นใจ เติมเชื้อไฟให้สามจังหวัดชายแดนใต้
พรรคอนาคตใหม่ยังเสนอให้มีกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional justice) ประชาชนทุกคนที่ถูกละเมิดโดยรัฐจะต้องได้รับการเยียวยา กำจัดกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างแรกก็คือรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ซึ่งบัญญัติคำสั่งประกาศต่างๆ ของคสช.ถูกต้องตลอดกาล และต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคำสั่งคสช.ใหม่ หากกฎหมายใดที่ประชาชนได้ประโยชน์ ก็เปลี่ยนเป็นกฎกระทรวง พ.ร.บ. หรือพ.ร.ก. กฎหมายใดละเมิดประชาชน ต้องยกเลิกให้หมดและเยียวยา ผู้ที่ได้รับความเสียหาย
อลงกรณ์: พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย แยกระหว่างผู้อพยพทางเศรษฐกิจและผู้ลี้ภัย กำหนดแนวปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจนให้เจ้าหน้าที่รัฐ พิจารณาการเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ตรากฎหมายผู้ลี้ภัย สิทธิการเข้าถึงการศึกษา การทำงาน และการรักษาพยาบาล รวมถึงการพิจารณาการเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอพยพเพื่อการมีงานทำ และฉบับที่ 143 ว่าด้วยการอพยพในสภาพที่ถูกกดขี่ และส่งเสริมการมีโอกาสเท่าเทียมกัน
พาลินี: ทุกคนก็ควรมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรตามความเหมาะสมของตัวเอง ไม่เพียงแต่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองเท่านั้นที่ควรได้รับสิทธิ แต่ควรรวมถึงผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย หากรัฐบาลมีมนุษยธรรมมากขึ้นก็จะทำมีกฎหมายรองรับหรือลงนามปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยตามมา พรรคมหาชนมีนโยบายให้สัญชาติกับคนกลุ่มน้อย คนหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยไม่มีเงื่อนไขซับซ้อน ส่วนคนที่ย้ายถิ่นฐานมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยหรือแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายไม่ส่งพวกเขากลับไปเผชิญกับชะตากรรม
เกรียงศักดิ์: จะต้องกำหนดแนวนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่ส่งผู้ลี้ภัยและผู้อพยพกลับไปเผชิญอันตราย พรรคสามัญชนมองว่ารัฐบาลควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ในมุมมองของสิทธิมนุษยชนมากกว่าเรื่องความมั่นคง รัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการคนเข้าเมืองมาทำหน้าที่รับรองสิทธิของคนกลุ่มนี้แทนสภาความมั่นคง และผลักดันให้มีการจัดการประชากรในระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ พรรคสามัญชนมีนโยบายระยะกลางว่าจะผลักดันให้มีการเปิดสำรวจและผ่อนผันสถานะอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดกระบวนการพิสูจน์คัดกรอง กำหนดสถานะตามกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณะได้เช่นเดียวกับคนไทยทุกคน
พรรณิการ์: กฎหมายไทยต้องรับรองสถานะผู้ลี้ภัยก่อน จากนั้นค่อยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ไม่ให้จับกุมผู้ลี้ภัยที่มีเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ไปอยู่ศูนย์กักกัน และในฐานะที่ปีนี้ ไทยเป็นประธานอาเซียน ไทยต้องผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ปัญหาผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาภูมิภาค ไม่ใช่แก้ไขเพียงด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังยกระดับประเทศไทยมีบทบาทนำในเวทีโลกมากกว่าปัจจุบัน
ส่วนเรื่องแรงงานข้ามชาติ ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า หลายภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมาก ทั้งประมงและก่อสร้าง อีกทั้งยังเติมเต็มสังคมสูงวัยที่แรงงานราคาถูกเริ่มขาดแคลน กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติจึงต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สะดวกและถูก โดยการเอาแรงงานข้ามชาติเข้าระบบหมายความว่าจะมีการปกป้องสิทธิแรงงานดีขึ้น ไม่หลบซ่อนจนเกิดปัญหาอย่างการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU การทำให้แรงงานอยู่ในระบบให้ได้ เก็บภาษีได้ แก้ได้ทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจ
วัฒนา: 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสิทธิมนุษยชนย่ำแย่มากในรัฐบาลทหาร หากมีรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลก็จะสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ เพราะรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประชาชนเท่านั้นที่จะเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะทำให้กฎหมายไทยอยู่ในกรอบของสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งยังต้องจัดการเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ขจัดกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีระบบอุปถัมภ์ เอาอำนาจรัฐกลับคืนไปให้ประชาชน
เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนเชื่อในความเท่าเทียมทางเพศที่เกี่ยวโยงชนชั้น จึงต้องพูดถึงการจ่ายค่าแรงเท่ากันระหว่างแรงงานชายและหญิงและเพศอื่นที่ทำงานในแบบเดียวกัน รวมถึงมิติทางเพศอื่นๆ ด้วย พรรคสามัญชนยังมีนโยบายชัดเจนในการให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม สามารถลาหยุดโดยได้รับค่าแรงตามปกติ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายแก้ไขกฎหมายสมรสเพื่อให้คนเพศหลากหลายได้จดทะเบียนสมรสสร้างครอบครัวอย่างเท่าเทียมและยังสนับสนุนการทำแท้ง การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะต้องคำนึงผู้ที่ถูกกระทำเป็นที่ตั้ง และเพิ่มระยะเวลาในการแจ้งความคดีล่วงละเมิดทางเพศให้ยาวนานขึ้นเป็น 3 ปี เป็นต้น
พาลินี: ในฐานะที่เป็นคนข้ามเพศที่ถูกละเมิดสิทธิเสมอภาคทางเพศบ่อยครั้ง สิ่งที่พรรคมหาชนจะทำเป็นสิ่งแรกๆ คือการเป็นตัวแทนของกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าไปแก้ไขผลักดันกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งต้องผลักดันให้ได้สิทธิที่เท่ากันกับคนอื่น ส่วนการผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 จะต้องแก้จากการสมรสระหว่างชายและหญิงเป็นระหว่างบุคคล ส่วนสิทธิในการระบุตัวตนให้เอกสารราชการตรงกับเพศสภาพของตัวเอง หรือการแก้คำนำหน้านามจะต้องเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องให้ความรู้ สื่อสารทางความคิดให้สังคม ไม่ให้เกิดปัญหากลุ่มหลากหลายทางเพศถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกกีดกันจากโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน
พรรณิการ์: รัฐสภาเป็นตัวแทนของสังคม เป็นภาพสะท้อนของสังคม ไม่ใช่รัฐสภาชายแก่สูงวัยเท่านั้น หลังการเลือกตั้งก็หวังว่าจะมีรัฐสภาที่มีผู้ชาย ผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศ ให้เหมือนที่สังคมเป็น โดยพรรคอนาคตใหม่มีผู้หญิงและ LGBT อยู่ในทุกโครงสร้าง
ไทยจะต้องบังคับใช้กฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ให้ได้จริง ซึ่งจะต้องทำงานการเมืองและทำงานทางความคิดด้วย นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะคู่ชีวิตกับคู่สมรสไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด LGBTIQ หรือ non-binary ทั้งหมดเท่ากัน ฉะนั้น ปพพ.มาตรา 1448 จะต้องแก้เป็นการสมรสระหว่างบุคคลกับบุคคล ไม่จำเป็นต้องมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต
อลงกรณ์: พรรคประชาธิปัตย์มีโครงสร้างบริหาร โครงสร้าง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดสัดส่วนผู้หญิงไว้ชัดเจน อีกทั้งยังตั้ง New Dem ที่เสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศมาหลายเดือน และเนื่องในวันสตรีสากล มีการแถลงนโยบาย Dem for Women แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ปิดช่องเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิต เบื้องต้นจะแก้ไขปพพ. มาตรา 1448 และจะคุ้มครองประกันสิทธิคนกลุ่มหลากหลายทางเพศ อลงกรณ์มองว่า ทุกพรรคควรร่วมมือกัน เพราะบริบทประเทศไทยมีการยกเลิกกฎหมายห้ามมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2500 และพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ
วัฒนา: คนรักกันเป็นคู่รักต่างเพศหรือเพศเดียวกันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือทำให้ประเทศขาดความมั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องไปจำกัดสิทธิ พรรคเพื่อไทยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาดูแล และรัฐก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในเรื่องนั้น ส่วนคำนำหน้านามก็ไม่ได้มีแค่นาย นาง นางสาวเท่านั้น “เราเรียกไอ้พวกห่วยนั่นว่า บิ๊กนั่น บิ๊กนี่ตั้งเยอะ ทำไมเราเรียกได้" ดังนั้น ไม่ควรยุ่งว่าใครอยากมีคำนำหน้าว่านาย นาง หรือนางสาว พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า ความหลากหลายจะไม่มีข้อจำกัด มองที่ความสามารถของคน
เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนมีนโยบายชัดเจนว่าควรยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุม เพราะเชื่อว่าชาวบ้านมีความรู้ มีวัฒนธรรมการชุมนุมโดยสงบอยู่แล้ว หากมีปัญหาก็ใช้กฎหมายที่มีอยู่ โดยที่ผ่านมา ชาวบ้านมักเป็นคู่กรณีกับผู้ใช้อำนาจของรัฐ และมักถูกเจาหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ไว้วางใจให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้อนุญาตให้ชุมนุม
พรรณิการ์: พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะมีปัญหามาก เพราะแทนที่จะมีไว้อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมและป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพสาธารณะ แต่ พ.ร.บ.กลับเขียนกว้างๆ ให้เจ้าหน้าที่นำไปขัดขวางการชุมนุม ตามสถิติของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 218 คน แม้ท้ายที่สุดไม่มีใครถูกดำเนินคดีจริงๆ เป็นการรอลงอาญาหรือยกฟ้อง แต่ถือเป็นภาระในการต้องขึ้นศาลต่อสู้คดีให้ผู้ที่ต้องการแสดงเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น จำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมที่ขัดต่อหลักการพื้นฐาน
ไทยเป็นประเทศที่มีการปราบปรามการชุมนุมและสังหารหมู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่มีใครที่ถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แม้ศาลจะยอมรับว่าการกระทำนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเหตุการณ์ในเดือน เม.ย.-พ.ค. ปี 2553 ฉะนั้น รัฐบาลพรรคอนาคตใหม่ต้องการให้สัตยาบรรณในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC ให้ผู้ที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก่ออาชญากรรมขั้นร้ายแรงได้รับการดำเนินคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อการันตีว่า ชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความหมาย หากรัฐบาลบกพร่องในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและละเมิดสิทธิประชาชนเสียเอง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะช่วยคุ้มครองได้
วัฒนา: ประเด็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมมีเรื่องที่จะต้องกล่าวถึง 3 เรื่อง 1. ทัศนคติของคนในสังคม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเคารพว่าสิทธิในการรวมตัวกันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2. ตัวกฎหมายต้องอำนวยความสะดวก ไม่ใช่กีดกันการชุมนุมของประชาชน 3. การบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลที่กลัวการรวมตัวของประชาชน ก็จะใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นตัวคัดกรอง สร้างปัญหาในการชุมนุม ก็ต้องกลับไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชน
นอกจากนี้ยังต้องปรับทัศนติของสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาว่าการเยียวยาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญไม่แพ้การแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การเยียวยาที่ต้องจ่ายสูงเป็นหลักล้าน เป็นการลงโทษรัฐบาลว่าต้องไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้กับประชาชนอีก เพราะประชาชนไม่มีหน้าที่เรียกร้องความเป็นธรรม เสี่ยงชีวิตเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องจัดการให้ เมื่อรัฐบาลไม่จัดการให้ พวกเขาต้องไปเรียกร้องเองและได้รับบาดเจ็บ สูญเสีย
อลงกรณ์: จะต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย จำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งหมด รวมถึง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และจะต้องแก้ไขบนหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1. สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน 2. สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 3. สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ 4. สอดคล้องกับปรัชญาความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม การชุมนุมก็จำเป็นต้องมีเงื่อนไข คือ การชุมนุมของเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ ไม่เป็นภัยต่อสาธารณะ ต่อความมั่นคง ต่อความสงบ หรือละเมิดสิทธิของคนอื่น
พาลินี: ทุกพรรคมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทิศทางเดียวกันว่า การชุมนุมโดยบริสุทธิ์ใจควรเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องมีการควบคุมหรือกำหนดโซนในการชุมนุมให้ชัดเจน ไม่ให้เบียดบังละเมิดสิทธิผู้อื่น ให้การชุมนุมเป็นไปเพื่อการแสดงออกทางความคิด โน้มน้าวทางความคิดไม่ใช่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเมื่อใครที่ได้เสียงข้างมากในสภาไปแล้ว คนอื่นก็ต้องอดทนที่จะเล่นในกติกา อย่าเอาคนมาตะลุมบอนกัน จนเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจที่ผ่านมา