ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจการทางพิเศษ ยืนยัน คัดค้านขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 30 ปี ขออย่านำคำสั่งศาลปกครอง ไปเป็นเงื่อนไขขยายสัมปทานส่วนอื่น หวั่นประเทศชาติ-ประชาชนเสียประโยชน์

นางสาวยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานฝ่ายวิชาการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาภาคประชาชน เรื่อง เบื้องหลังค่าโง่ทางด่วน ยืนยันว่าเหตุผลที่ถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อเจรจาขยายสัญญาสัมปทาน ทางด่วน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจจะแพ้คดีและนำความเสี่ยงดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการเจรจาเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล โดยย้อนไปชี้ให้เห็นว่า เหตุผลที่ทำให้เกิดข้อพิพาทเพราะร่างสัญญาที่เห็นต่างกันหรือใช่ไม่ ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าใครทำให้เกิดค่าโง่ 

ดังนั้นต้องช่วยกันตรวจสอบว่าถ้าจะมีการเจรจาต่อรอง ผลประโยชน์เป็นของใคร ใครได้ใครเสียประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ และมองว่ากรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสรุปออกมาในแนวทางให้เดินหน้าต่อสัญญาสัมปทานอาจจะยังได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ในกรรมาธิการยังคงเห็นต่างหลายเรื่อง เช่น กรอบของการเจรจามีจริงหรือไม่ ซึ่งทางสหภาพยืนยันว่าวันนี้ตามข้อกฎหมายยังไม่มีอำนาจในการเจรจา 

ดังนั้นกรอบของการพูดคุยจึงจะอยู่ในเรื่องของการชดเชยให้เอกชน ตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งคือ 4,300 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจะต้องไม่นำผลจากคำสั่งดังกล่าวไปเป็นเงื่อนไขในการ อนุญาตให้ขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มเติม

ทั้งนี้เห็นว่า การที่ข้อต่อสู้ยังไม่ได้ข้อยุติ หากมีความเร่งรัดผลประโยชน์ที่จะเป็นของรัฐและประชาชนจะลดน้อยลง และเอกชนจะได้สิทธิ์ครอบครอง บริหารจัดการทางด่วนไปอีก 30 ปี พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายกว่า 2 แสนล้านบาท ใช้หลักการใดคิด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเอกชนและรัฐสามารถบริหารจัดการร่วมกันได้แต่ขออย่าให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดถึงผลประโยชน์มากเกินไป

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ติดตามเรื่องดังกล่าวมองว่า ในการขยายสัญญาสัมปทานจะต้องมองเหตุผลความจำเป็น และภาครัฐจะได้รับประโยชน์หรือไม่ ไม่ใช่ไปดูว่าภาคเอกชนจะได้ประโยชน์อะไร และที่สำคัญคือมีความจำเป็นใดที่จะต้องไปต่อสัญญา 

นายพีรพันธ์ ระบุว่า ความกังวลที่อ้างว่าจะแพ้คดีนั้นขออย่าให้นำเรื่องของอนาคตมาเป็นเงื่อนไขเพื่อขยายสัญญา ซึ่งถือเป็นหลักการบริหารที่ไม่ถูกต้อง

หรือแม้แต่คดีที่จบไปแล้วก็ต้องมาพิจารณาเหตุผลที่แพ้คดีมาจากเรื่องใด ซึ่งในการศึกษาอาจจะพบหลักฐานได้ว่า มีความตั้งใจทำให้แพ้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับไปดูทุกคดีตั้งแต่คดีแรกว่าได้ต่อสู้คดีอย่างถูกต้องหรือไม่

ขณะเดียวกัน นายพีรพันธ์ ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของ การทำหน้าที่ ซึ่งควรเป็นเรื่องของการศึกษาไม่ใช่เป็นผู้สรุปว่าควรต่อสัญญาหรือไม่ 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :