ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร ประชุมสั่งการกำชับทุกส่วนราชการเตรียมแผนรับมือ ให้เวลา 1 สัปดาห์ทุกอย่างต้องชัดเจน ยืนยันรัฐบาลจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างดีและเร็วที่สุด

วันนี้ (29 มีนาคม 2568) เวลา 09.30 น. ณ อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารส่วนราชการ และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เข้าร่วมประชุม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทันทีที่เริ่มการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้ว แต่ละหน่วยงานได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. แจ้งว่า เมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้ส่งข้อความให้ กสทช. แจ้งเตือนประชาชนทันที 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เวลา 14.42 น. ซึ่งกสทช. ก็รับแจ้งต่อทันทีในเวลา 14.44 น. ในพื้นที่ 4 จังหวัด กทม.และปริมณฑล แต่ยอมรับว่า การส่ง SMS มีความล่าช้า เนื่องจากระบบมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนในการส่งข้อความ ที่สามารถทยอยส่งได้คราวละ 1-2 แสนรายเท่านั้น และจะแจ้งได้เมื่อได้รับข้อความจาก ปภ. 

นายกรัฐมนตรี ได้ท้วงติงว่า การแจ้งเตือนประชาชนยังมีความล่าช้า ซึ่งตนเองได้สั่งการทันทีภายหลังทราบสถานการณ์ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. แต่ระบบไม่มีการแจ้งเตือนไปยังประชาชน รวมถึงข้อบกพร่องในการประสานงานกับค่ายมือถือต่าง ๆ ก็ล่าช้า ตลอดจนข้อความที่แจ้งเตือนประชาชนก็ไม่มีประโยชน์มากนัก ข้อความที่สื่อสารออกไปเกิดประโยชน์น้อยมากต่อประชาชน ไม่ตรงตามความต้องการ 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่าตนเองผิดเอง ที่ไม่ได้แจ้งว่าจะต้องแจ้งข้อความอย่างไร ขณะเดียวกันเชื่อว่า เมื่อระบบ Cell Broadcast เริ่มใช้งานได้ ก็จะตอบโจทย์สถานการณ์ภัยพิบัติของไทย โดยได้ขอบคุณรายการโทรทัศน์ทั้งหมด ที่ออกรายการเฉพาะกิจ สามารถทำได้ภายในไม่ถึง 5 นาที หลังจากที่ได้สั่งการ พร้อมกำชับทุกคนให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องแผ่นดินไหวกับประชาชนให้มากขึ้น ว่าต้องทำตัวอย่างไร เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น

สำหรับ ระบบขนส่งสาธารณะหยุดบริการ  นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รายงานว่า ทันทีที่เกิดเหตุนายสุริยะ รอง นรม. และ รมว. คค. ได้แจ้งให้ตั้งศูนย์สั่งการของกระทรวงทันที หลังจากนั้นสั่งการให้ระบบขนส่งมวลชนหยุดบริการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบสถานการณ์โดยทั่วไป ทั้ง ทางอากาศ ราง และน้ำ โดยมุ่งเน้น โครงสร้างยกระดับ อุโมงค์ใต้ดิน ให้วิศวกรเข้าตรวจสอบ ส่วนทางอากาศสั่งปิดทันทีตั้งแต่บ่ายโมงกว่า เช็กโครงสร้างอาคารและรันเวย์ ก่อนกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งภายใน 1 ชั่วโมง  ส่วนโครงสร้างถนนทุกหน่วยได้ตรวจสอบทันที โดยเฉพาะเส้นทางที่สุ่มเสี่ยง คือ สะพานข้ามแม่น้ำ ทางยกระดับของการทางพิเศษฯ พบว่ามีปัญหาจุดเดียวคือบริเวณ ทางขึ้น-ลงเชื่อมระหว่างทางด่วนกับถนนวิภาวดีรังสิต -ดินแดง ที่มีเครนจากบนอาคารเอกชนพังลงมาทับ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอีก รวมทั้งอุบัติเหตุ ขอให้วางแผนเตรียมไว้ เพื่อแจ้งประชาชน ว่าเส้นทางไหนปิดหรือมีปัญหา ควรส่ง SMS บอกข้อมูลแจ้งประชาชนได้

จากนั้น ปลัดกระทรวงคมนาคม ยังรายงานว่า ทางราง ทางยกระดับและใต้ดิน ที่ปิดเมื่อวาน ก็เปิดให้บริการหมดแล้วเช้านี้ ยกเว้นสายสีชมพูกับสายสีเหลืองปิดอีก 1 วัน เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง  ขณะที่ถนนเปิดทั้งหมดแล้ว  ยกเว้นทางขึ้นทางด่วนวิภาวดีที่เครนพังลงมา หากพร้อมจะเปิดในบ่ายวันนี้ 

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จากที่ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงปัจจุบันพบว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง และทุกครั้งที่เกิดจะมีความรุนแรงน้อยลง  แนวโน้มการเกิดอาฟเตอร์ช็อก จะเลื่อนไปทางทิศเหนือ ทางเทือกเขาหิมาลัยและประเทศจีน จะเกิดห่างจากไทยมากขึ้นกว่าเดิม ยืนยันว่าผลกระทบกับประเทศไทยน้อยลง และหากเกิดแรงสั่นสะเทือนเพียงระดับ 5 ก็จะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน 

“ กรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่า Aftershock ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อให้สามารถกระจายข้อมูลได้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุขนาดใหญ่” นายกรัฐมนตรี ระบุ

นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกข้อมูลที่ทุกหน่วยงานได้นำเสนอ และให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ รัฐบาลจะช่วยกันหามาตรการที่รัดกุม และแนวทางที่จะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด โดยได้สั่งการดังนี้ 

1. ให้กระทรวง DE ปภ. และ กสทช. ให้ ปภ. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเตือนภัยดำเนินการส่งหนังสือ และข้อความ SMS ที่จะ broadcast ไปให้ กสทช. ในทันที (โดยที่ไม่ต้องรอการประชุม หรือคำสั่งการจากนายกรัฐมนตรี) โดยที่ กสทช. ทำงานร่วมกับ operator เพื่อเตรียม capacity ไว้ให้เพียงพอและเพิ่ม capacity ในการส่งข้อความ SMS ในยามฉุกเฉิน และขอให้ ปภ. เร่งพัฒนาระบบ cell broadcast ที่สามารถส่งข้อความฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในไทยได้ทันที ภายในเวลา 3 เดือน 

2. ให้กรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการค้นหาผู้สูญหาย และเร่งหามาตรการในการควบคุมการออกใบอนุญาตอาคารสูง และการกำหนดมาตรฐาน และตรวจสอบอาคารสูงเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้หากปล่อยปละละเลยแล้วสร้างอาคารเสร็จแล้วมีผู้อาศัย แล้วไม่มีคุณภาพจะเกิดปัญหาที่มากกว่าขณะนี้ นอกจากนี้ ขอให้ความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา ในการตรวจสอบโบราณสถานต่าง ๆ ว่าผลกระทบหรือไม่

3. ให้กระทรวงกลาโหม นอกจากการจัดหายุทโธปกรณ์ในการบริการประชาชน รถ โรงครัว รถขนส่งแล้ว ขอให้หน่วยงานความมั่นคง เตรียมกำลังพล เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 

4. ให้กระทรวงสาธารณสุข – เตรียมแพทย์สำรอง และเตียงเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการที่สำคัญการเยียวยาทางด้านจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว 

5. ให้กระทรวงมหาดไทย ปภ. ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแจ้งเตือน ถ้าหากไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จะต้องมีการจัดการที่เด็ดขาดต่อไป และนายกรัฐมนตรีจะติดตามเป็นระยะ ๆ 

6. ให้กระทรวงคมนาคม ขอให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสูง ขอให้กรมโยธาธิการ สภาวิศวกรรมสถานในการตรวจสอบที่เข้มงวด 

7. ให้กระทรวงท่องเที่ยวร่วมมือกับทางสภาวิศวกรรม และกรมโยธาธิการตรวจสอบโรงแรมขนาดสูง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว 

ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ และจะติดตามผลภายใน 1 สัปดาห์ถึงมาตรการที่ชัดเจน