‘ปาตานี อาร์ตสเปซ’ คืออาร์ตสเปซแห่งแรกของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ๆ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ต้องการเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ศาสตร์ศิลป์รูปแบบร่วมสมัย เพื่อให้นักศึกษามีเวทีนำเสนอความสามารถของตนเอง เพราะสำหรับเขา ศิลปะเปรียบดั่งพลังการแสดงออกอย่างอ่อนโยน และไม่มุ่งร้ายต่อใคร
ทว่าความน่าสนใจไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะวันนี้ที่นี่ยังเป็นสะพานเชื่อมศิลปะกับชีวิตประจำวัน ซึ่งมีเส้นทางทอดยาวไกลสู่ระดับนานาชาติ และทำให้คำพูดว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เมื่อไหร่เรามีคุณค่า เดี๋ยวมูลค่ามันจะตามมาเอง” ของเจะอับดุลเลาะครั้งให้สัมภาษณ์กับ The Standard ไม่เกินจริงเลย
เมื่อปีก่อน เจะอับดุลเลาะสามารถพางานของเขา และศิลปินในปัตตานี ไปจัดแสดงที่กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และซาอุดิอาระเบีย อวดสายตาคนนอกประเทศสำเร็จ ได้รับคำยกย่องชนิดที่ศิลปินเองก็ดีใจ เพราะด้วยความคุ้นชินกับศิลปะอัตลักษณ์ของตนเอง นั่นนับเป็นครั้งแรกที่ได้รับฟังความเห็นจากผู้คนจากมุมอื่นของโลก
จากนั้น ความสำเร็จของกลุ่มศิลปินเล็กๆ ก็กลายมาเป็นโปรเจกต์อื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ก่อนชื่นชมผลงานศิลปะ Voice On Being อยากจะขอเริ่มต้นเล่าด้วยการย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว สมัยเจะอับดุลเลาะเป็นนักศึกษาศิลปะรุ่นแรกของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะสำหรับเขา ห้วงเวลาดังกล่าวทำให้ได้เรียนรู้สุนทรียศาสตร์ คือช่วงกำเนิดของ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
“ปี 2545 มีการกำเนิดคณะศิลปกรรมขึ้นมาใน มอ. ปัตตานี ศาสตราจารย์พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น ซึ่งเป็นคนพุทธปัตตานีดั้งเดิม ไปเรียนกรุงเทพฯ แล้วกลับมาพยายามเปิดหลักสูตร กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้คนพื้นที่มีโอกาสเรียนศิลปะ และสะท้อนความคิดออกมาตามแบบฉบับตนเองได้อย่างเต็มที่
“เป็นการดีที่ทำให้คนพื้นที่ได้เรียน ได้รับแรงบันดาลใจ และอยู่กับสภาพบรรยากาศ งานศิลปะร่วมสมัยที่ปรากฏตัวต่อผู้คนเลยมีความแข็งแรง เพราะมันเกิดที่นี่ ด้วยคนที่นี่ และเรื่องราวที่นี่”
จากศิลปะมลายูดั้งเดิม เน้นลวดลวดอ่อนช้อย นอบน้อม อิงกับรูปแบบธรรมชาติ และมักแสดงผ่านวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นเรือกอและ กริช ผ้าปาเต๊ะ ถูกปรับบริบทสู่ศิลปะร่วมสมัย ที่ต้องใช้ชั้นเชิงการตีความมากขึ้น และการกำหนดหลักสูตรให้การเรียนการสอนรายวิชาต้องสอดแทรกอัตลักษณ์ของพื้นถิ่น ทำให้คนปัตตานีเห็นศิลปะพื้นถิ่นรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น
“คือถ้าจะบอกว่า ศิลปะมลายูปัตตานีแล้วเป็นคนอื่นทำผมว่า น้ำหนักมันไม่พอ มันต้องคนในพื้นที่ถึงจะมีน้ำหนัก” เจะอับดุลเลาะเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
สำหรับวลีว่า ‘มีน้ำหนัก’ ส่วนตัวเจะอับดุลเลาะต้องการนิยามถึงพื้นที่ที่ต้องการเล่าเรื่องราว และแสดงตัวตน ซึ่งปัตตานีรวมถึงระแวกใกล้เคียงเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์ “เป็นพื้นที่สูญญากาศ” เขาบอกเช่นนั้น
แม้มีอดีตหลากหลายเจริญรุ่งเรือง ทั้งแง่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศิลปะต่างๆ ที่มีรากมาจากมลายู แต่ผู้คนต่างทราบกันดีว่า ความขัดแย้งแช่แข็งยังคงอยู่ ดังนั้น ศิลปะร่วมสมัยลักษณะเปิดกว้างทั้งวิธีการ และวิธีคิด จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวทุกข์-สุข ที่เกิดขึ้นบนผืนดินแห่งนี้
“ศิลปะร่วมสมัย คืองานศิลปะที่เกิดขึ้นตอนนี้ แม้คุณจะไปหยิบเทคนิก วิธีการใดในอดีตก็ตาม แต่การแสดงออกที่มันปรากฏมันเป็นภาษาสากลที่โลกรู้กัน คุณจะสะท้อนออกมาในมิติของจิตรกรรม ปฏิมากรรม ศิลปะภาพพิมพ์ หรือศิลปะสื่อผสม วิดีโอ อินสตอลเลชั่นอาร์ต แต่ทุ���อย่างมีกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่น แสดงออกถึงตัวตน”
“ด้วยผลพวงที่เราทำงานต่อเนื่อง และมันปรากฏชัดเจนในพื้นที่มันทำให้คนข้างนอกเห็นแล้วมาหาเรา ทำให้รู้ว่ามีคนสนใจเรา โดยเฉพาะรูปแบบงาน คนส่วนใหญ่ไม่นึกด้วยซ้ำว่า ปัตตานีจะมีพื้นที่ทางศิลปะ เพราะมันมีแต่เรื่องความรุนแรง แต่ด้วยมันเกิดขึ้นในมิติบริบทตรงนี้ พอมันปรากฏขึ้นมามันทำให้คนสนใจ”
ปีที่ผ่านมา เจะอับดุลเลาะพางานของศิลปินปัตตานีไปแสดงในต่างแดน โดยการเชื้อเชิญของภัณฑารักษ์ต่างชาติที่ประทับใจในงานของเขา ไม่ว่าจะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือประเทศในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็มีทั้งภัณฑารักษ์ นักสะสม และศิลปินจากชาติอื่นๆ เข้ามาศึกษา แลกเปลี่ยน และเวิร์กช็อป กินอยู่ ฝังตัว ณ ปาตานีอาร์ตสเปซอยู่เรื่อยๆ
ทั้งนี้ งานที่เจะอับดุลเลาะมองว่า มีความสำคัญต่อย่างก้าวของศิลปะร่วมสมัยของปัตตานีมากสุด คือนิทรรศการ ‘ปาตานี เซมาซอ’ (Patani Semasa) ที่จัดแสดงขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา และติดอันดับท็อป 20 นิทรรศกาลของโลกปี 2018 จากการจัดอันดับโดย hyperallergic.com เว็บไซต์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยผู้เขียนได้นิยามว่า เป็นนิทรรศการที่ร่วมแสดงผลงานของ 27 ศิลปิน ซึ่งมาจากพื้นที่ภาคใต้ อันเป็นภูมิภาคที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ และเนื่องจากปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์การเมืองและถูกเพิกเฉยมาอย่างยาวนาน ขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการกระชับดินแดนและผลักชนกลุ่มน้อยออกไป ดังนั้นผู้เขียนจึงโชคดีมากที่ได้ชมนิทรรศการซึ่งบอกเล่าเรื่องราวนี้
“จุดเริ่มต้นจากคุณเอริค บุนนาค บู๊ทซ์ เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมที่เชียงใหม่ และเป็นคอลเลคเตอร์คนสำคัญในเมืองไทย เขาเห็นในโซเชียลมีเดีย และได้ยินจากผู้คนว่า ศิลปะที่นี่น่าสนใจมาก เขาก็เลยเดินทางมา ปรากฏว่าเขาชอบมาก เลยมีโปรเจคให้คิวเรเตอร์ในสังกัดเขาจัดขึ้นมานะครับ จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมก่อน ก่อนจะมีภัณฑารักษ์จากมาเลเซียมาเห็นแล้วสนใจ เพราะในมาเลเซียกับปัตตานีเป็นคัลเจอร์เดียวกัน เขาเลยคิดว่าต้องไปแสดงที่มาเลเซียเพราะคนมาเลเซียเองยังไม่รู้เลยว่า ปัตตานีมีคัลเจอร์ใกล้กับตนเองโดยเฉพาะเรื่องศิลปะ”
ปาตานี เซมาซอ จัดแสดงงานหลากหลายตั้งแต่จิตรกรรม ปฏิมากรรม ศิลปะจัดวาง วิดีโออาร์ต ภาพถ่าย ชนิดที่เจะอับดุลเลาะให้นิยามว่า “ยำการนำเสนอทั้งในแง่บวกและแง่ลบ” ของปัตตานีออกสู่สายตาชาวโลก
ที่สุดแล้ว มันทำให้คนต่างชาติที่แตกต่างทางวัฒนธรรมสุดๆ อย่างชาวตะวันตก ร้อง ‘ว้าว’ เลยทีเดียวเมื่อได้เห็นผลงาน
“เขาก็ไม่นึกว่าพื้นที่เล็กๆ ตรงนี้สามารถทำงานศิลปะสื่อสารที่มีคุณภาพในระดับสากลได้ เขาว่านี่แหละคือภาษาสากล คนยุโรป อเมริกันบอกว่า คือต่อให้คนที่ไหนมาดูเขาก็เข้าใจเพราะศิลปะที่คุณแสดงออกมันคือภาษาสากล ผมดีใจมากที่เขาพูดแบบนั้น”
ในปีนี้ เจะอับดุลเลาะก็มีโปรเจ็กต์จะนำเสนอผลงานออกสู่นอกประเทศอีก แต่ก่อนอื่น เขาเตรียมจัดเทศกาลศิลปะในบ้านเกิดตัวเองก่อน ภายใต้ชื่อเทศกาลศิลปะนูซันตารา จะยิ่งใหญ่กว่าเทศกาลศิลปะปีที่แล้ว ที่เขาเชิญศิลปินมากมาย ประกอบด้วยศิลปินพื้นที่ 23 ชีวิต ศิลปินจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และศิลปินไทยจากพื้นที่อื่น โดยจัดแสดงครอบคลุม 4 สถานที่คือ ปาตานีอาร์ตสเปซ มาลายูลิฟวิ่ง ชายหาดบ้านดาโต๊ะ และปาตานีอาร์ตการ์เดน
ความร่วมสมัย คือความเป็นปัจจุบัน เจะอับดุลเลาะขยายนิยามเพิ่ม ดังนั้น การเดินหน้าต่อ เพื่อสิ่งที่ยืนหยัด เป็นเรื่องที่เขาจะไม่รามือ
เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ปัตตานีเพิ่งมีงานเทศกาลศิลปะครั้งแรกเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อว่า ‘รีฟอร์มมิ่งปาตานี’ ซึ่งเทศกาลนี้ได้มีโอกาสไปจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมาด้วย เป้าหมายคือการปฏิวัติความรู้สึกคนใน-นอกพื้นที่ ต่อพื้นที่ที่ดำรงอยู่ ณ ปลายด้ามขวาน ซึ่งเทศกาลนูซันตารา เทศกาลศิลปะครั้งที่ 2 ของปัตตานีที่จะเกิดขึ้นเร็ววันนี้ ก็ย้ำเป้าหมายเดียวกัน
“นูซันตารา คือคำที่ครอบคลุมพื้นที่ไปถึงอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนมีรากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ผมคิดว่ามันเป็นนัยยะหนึ่งที่เราพยายามจะแสดงให้สังคมได้เห็น โดยเฉพาะสังคมภาพรวมนะไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง”
ในระยะหลัง มีความร่วมสมัยเกิดใหม่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งไม่ใช่แค่งานศิลปะเท่านั้น ซึ่งคนนอกหากไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง อาจจะไม่รู้ แต่คนข้างในใช้ชีวิตอยู่กับความหวังที่สะท้อนผ่านทั้งอาร์ตสเปซเกิดใหม่ สถาปัตยกรรมใหม่ๆ ร้านคาเฟ่น้ำชาน่านั่งริมน้ำ ตลอดจนร้านอาหารสไตล์นานาชาติที่หลากหลายแต่ยังคงคอนเซ็ปต์ฮาลาลสำหรับคนในพื้นที่
นั่นเป็นความพยายามหนึ่งในการแสดงออกให้ภายนอกรับรู้ว่า ความรื่นรมย์เกิดขึ้นตรงนี้ ความพยายามอันเป็นสิ่งที่เจะอับดุลเลาะย้ำว่า ไม่ใช่แค่ศิลปินหรือผู้ที่เคลื่อนไหวในเชิงสังคมเท่านั้นที่แสวงหา แต่กระทั่งคนในพื้นที่เองก็เช่นกัน เพราะเมื่อ ‘ความใหม่’ ต่างๆ เกิดขึ้น นั่นหมายถึงความปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ดังนั้นการจัดกิจกรรมด้านการศิลปะทุกครั้ง จึงได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี พวกเขา “อิน” ในสิ่งที่ผู้จัดเองก็รู้สึก
“ความเข้าใจของสังคมมันไม่เหมือนกันกับบริบทของคนที่นี่ ศิลปะมันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะงั้นสิ่งที่เกิดตอนนี้ผมคิดว่าทุกคนล้วนปรารถนาดี ต้องการส่งเสียงผ่านความถนัดต่างๆ ของตัวเอง เพื่อสะท้อนให้คนได้รู้จักที่นี่มากขึ้น”
ที่ผ่านมา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศ มีภาพจำเลือนลางของความรุ่งเรืองในอดีต และถูกทาบทับด้วยความรุนแรงมากมายที่เกิดขึ้น การร่วมกันฟื้นคืนชีวิตปัตตานีจากหลายๆ มือเป็นสิ่งสำคัญ โดยงานศิลปะเป็นเครื่องมือหลักหนึ่ง
ท่ามกลางทรงจำมากมายที่ต้องเลือกเก็บ และเลือกทิ้งไว้เบื้องหลัง มีหลายอย่างที่เจะอับดุลเลาะเลือกบรรจุมันไว้ในภาพวาดของเขา กระทั่งภาพความรุนแรงบางประการที่เกิดขึ้น แต่เขายืนยันไม่ได้พยายามย้ำบาดแผล หรือสร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนกลุ่มไหน
“ศิลปินพยายามจะสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความเดือดร้อน เราอยากหาวิธีการรักษาชีวิตคนไว้ได้มากที่สุด ให้เรารักในความเป็นมนุษย์ ในชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน เราจะทำยังไง เพื่อหาสันติภาพที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้คนให้ได้มากที่สุด อันนั้นแหละคือ เจตนาศิลปิน”