วันที่ 4 ต.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นำโดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กฤษดา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย และ อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด
รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง ร่วมกันแถลงข่าวในหัวข้อ 'ประยุทธ์รอดแล้ว แต่คนไทยจะรอดไหม?'
พิชัย ระบุว่า จากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเริ่มนับความเป็นนายกฯ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ทำให้ประชาชนสงสัยว่า แล้วในระหว่างปี 2557-2560 พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานะอะไร ตนเองก็หาคำตอบไม่ได้ ความอึดอัดใจของประชาชนจะเป็นปัญหาต่อในอนาคต ถ้าอยู่แล้วดีก็อีกเรื่อง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจอย่างมาก มีแต่การกู้เงินเพิ่มทั้งที่หนี้สาธารณะท่วม แต่ไม่มีวิธีสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่คนจนก็จำนวนมากขึ้น
สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหาย พล.อ.ประยุทธ์ คิดได้แค่ให้ใช้ทรานซิสเตอร์ในการติดต่อสื่อสาร ท่านคิดได้แค่นี้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจว่าตัวเองทำได้ดีแล้ว ตามที่พวกพ้องบอก แต่ประเทศเพื่อนบ้านแซงเราไปหมดแล้ว เป็นประเทศรายได้สูง ส่วนของประเทศเรายังตามหลัง 19 ปี หากว่ามีโอกาสจะพัฒนา ตนขอยืนยันว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ รอด แต่ประเทศไทยจะไม่รอด
"มาฟังที่ คุณ สุพัฒนพงษ์ พันมีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดว่า ปีหน้าจะเป็นช่วงขาขึ้น ผมเองยังแปลกใจว่าท่านเอาอะไรมาพูด ขาชี้ฟ้าขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจปีหน้าจะมีปัญหาเยอะมาก เศรษฐกิจโลกจะถดถอยทั้งหมด"
พิชัย ยังขอแสดงความเป็นห่วงว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีแนวทางแก้ปัญหา นอกจากการกู้เงินมาแจก กู้มาใช้ อย่างสะเปะสะปะ จะส่งผลเสียต่อประเทศ 8 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องดูตัวเองว่าทำให้ประเทศเสื่อมถอยมาตลอด แต่ท่านกลับหลอกตัวเองว่าทุกอย่างไปได้ดี ประชาชนจะลำบาก ท่านควรสำนึกว่าท่านต้องออกไปได้แล้ว
เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามความต้องการของ พล.อ ประยุทธ์ ที่มุ่งหวังที่จะแสวงหาอำนาจ และรักษาอำนาจให้ได้นานที่สุด ทั้งที่ตลอดระยะเวลา 8 ปี่บนตำแหน่งนายก ชาวบ้านประจักษ์ชัดถึงผลงาน และความสมารถของผู้นำประเทศคนนี้เป็นอย่างดี ประเทศเต็มไปด้วยปัญหา เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้เพิ่ม เงินไม่พอใช้ ระบบการเมืองพิกลพิการ กลยุทธ์ 3 แกนที่ประกาศจะพลิกฟื้นประเทศ พิ่งจะมาประกาศทั้งที่มีเวลาถึง 8 ปี จึงเป็น 8 ปีที่สูญเปล่า
ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น คำมั่นสัญญาที่เขียนแนวทางการปฎิรูปประเทศทุกด้านไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระจายอำนาจ 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์เพื่อให้ช่วงเวลาที่เหลือในการบริหารประเทศเกิดประโยชน์ต่อการกระจายอำนาจ จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการเรื่องกระจายอำนาจสำคัญ 2 เรื่องสำคัญดังนี้
1. เร่งรัดกระบวนการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฎิรูปการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เป็นการรวบอำนาจการบริหารงานบุคคลไปไว้ที่ส่วนกลาง ส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการคัดสรรผู้บริหารเข้าสู่ตำแหน่ง รวมถึงได้บุคลากรที่ไม่สอดคล้องการทำงานในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นกฎหมายที่เป็นผลพวงของเผด็จการที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระจายอำนาจ
2. เร่งรัดการยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นเทศบาลทั้งหมด เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีเพียงแค่ 2 ระดับคือ องค์การบริหารส่วนขจังหวัด และเทศบาล เพื่อประโยชน์ต่อความคล่องตัวในการทำงานภายใต้กฎหมายเดียวกัน
กฤษฎา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามจากประเทศอุตสาหกรรมเก่า ไปเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เพราะหากเราไม่รีบพัฒนา เรากำลังจะล้าหลัง และตามไม่ทันหลายๆประเทศ โดยเฉพาะอัตตราเงินเฟ้อ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านกำลังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ การบริโภคและกำลังซื้อของเราในระยะยาว
จุดเริ่มต้นที่สำคัญก็คือ มีคำกล่าวว่า ที่ไหนมีถนน ที่นั่นมีเงิน วันนี้ สิ่งที่รัฐควรจะต้องเร่งทำคือ โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเอื้ออำนวยกับเศรษฐกิจทั้งในมหภาค ไปจนถึงท้องถิ่นทุกท้องถิ่น ถนนในที่นี้ ไม่ใช่แค่ถนนคอนกรีต แต่หากเป็นทั้งการคมนาคมทางน้ำและทางรางด้วย และเหตุผลที่ต้องรีบสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้านและการเปลี่ยนแปลงของโลกก็เพราะว่า ห่วงโซ่การผลิต กำลังมีการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นจะต้องชิงความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่เราเป็นศูนย์กลางเอเชียใต้ และดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนบนความได้เปรียบนี้
อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมอวกาศ ที่กำลังเป็นที่สนใจของมหาอำนาจหลายๆประเทศ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของไทย ในเวทีเศรษฐกิจในอนาคต และเราจำเป็นจะต้องกำหนดบทบาทของเราให้ชัดเจน ในห่วงโซ่นี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้ทันต่ออุตสาหกรรมในอนาคตให้ได้
อนุสรณ์ กล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ความเป็นนายกฯ ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแบบฉิวเฉียด แต่ชะตากรรมของประชาชนคนไทย 66 ล้านคนอาจไม่รอด 8 ปีเต็ม ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล จากวิกฤตโควิด-19 ลามถึงปัญหาเงินเฟ้อ เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี คนตกงาน คนจนเพิ่มขึ้น ค่าไฟฟ้า ค่าครองชีพ แพงที่สุดในประวัติศาสตร์
ไม่ว่าจะวัดผลงานตอนเป็นนายกฯจากการรัฐประหาร หรือเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง 62 ก็ล้มเหลวทุกมิติ ไม่ขาดตอน พล.อ.ประยุทธ์ รอด แต่คนไทยอาจไม่รอด 8 ปีที่ล้มเหลว คงไม่สามารถหวังปาฏิหาริย์ชั่วข้ามคืนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ นอกจากเดินหน้าสร้างหนี้และกู้เงินทำลายสถิติของตัวเองไปเรื่อยๆ ประชาชนต้องช่วยกันจับตาว่าจะมีการกู้มาแจกเพื่อซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ รู้ตัวดีว่าถ้าลาออกหรือยุบสภา โอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทบเป็นศูนย์จึงพยายามสืบทอดอำนาจให้นานที่สุด แม้ประชาชนจะขับไล่อย่างหนักก็ตาม
“ถ้าพอเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชน หลังจบเอเปก พล.อ.ประยุทธ์ ควรยุบสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศได้เลือกผู้นำประเทศด้วยมือประชาชนเอง” อนุสรณ์ กล่าว