ไม่พบผลการค้นหา
เก็บตก-สรุปรวบยอดทุกประเด็นที่ 'โทนี วูดซัม' นำเสนอทางออกให้กับวิกฤตประเทศไทย พร้อมรวมทุกคำถามเด็ดจากประชาชน

เปิดฉากวิกฤตโควิดไทย ‘โทนี วูดซัม’ หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับ 4 เครื่อนยนต์สำคัญ ได้แก่ 1.การส่งออก 2.การท่องเที่ยว 3.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และ 4.เศรษฐกิจภายในประเทศ 

ปัญหาสำคัญของไทยตอนนี้คือมองไปทางไหนก็มีเงื่อนไขเต็มไปหมด เริ่มจากเศรษฐกิจในประเทศที่โดนกระทบอย่างหนักกับการล็อกดาวน์อีกครั้งในหลายพื้นที่ ขณะที่การส่งออกของไทยยังไม่เติบโตกลับไปเป็นก่อนยุคโควิด-19

เมื่อหันไปฝั่งการท่องเที่ยว ก็ต้องกุมขมับอีกครั้งเพราะยังไม่มีแนวโน้มจะกลับไปเปิดการท่องเที่ยวเสรีหรือแม้แต่โครงการท่องเที่ยวเฉพาะประเทศ อาทิ กรณีจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง ดร.ทักษิณ ชี้ว่าคงติด “โรคเลื่อน” ต่อไปอีก 

ท้ายสุดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเองก็ติดประเด็นว่านักลงทุนชาวต่างชาติไม่ให้ความเชื่อถือกับรัฐบาลชุดนี้ “เพราะเขาไม่เชื่อมั่น”

ขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยมีปัญหาเจอทางตันไปแทบทั้งหมด ดร.ทักษิณ เสริมว่า เม็ดเงินกู้ที่ควรจะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจกลับถูกนำไปใช้เพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองแทน ซึ่งเป็นความสุ่มเสี่ยงสูญเม็ดเงินสำคัญเหล่านี้ไปอย่างเปล่าประโยชน์

“ความจริงแล้วเรากู้เงินมาพอสมควร แต่รัฐบาลจ้องแต่จะปูพรมแจกเงิน-เล่นการเมือง มันต้องไปหาคนที่กระทบก่อนจริงๆ ปูพรมไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจเลย วันนี้ต้องแก้ปัญหาคนที่จะอดตายก่อน” 


โควิดไทยกับ ‘กระดุมเม็ดแรก’

เมื่อหันมาดูที่ตัววิกฤตโควิด-19 ดร.ทักษิณ ชี้ประเด็นอย่างเต็มที่ว่า เมื่อประเทศเดินมาถึงจุดนี้แล้ว รัฐบาลต้องถามตัวเองได้แล้วว่าจะต้องเริ่มอย่างไร แล้วกระดุมเม็ดแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี กำลังติดอยู่เป็นสิ่งที่ผิดหรือถูกกันแน่ 

ดร.ทักษิณ แนะว่า กระดุมเม็กแรกที่นายกของไทยอาจกำลังสุ่มเสี่ยงจะติดผิดคือการรวบอำนาจทั้งหมดไปไว้ที่ตัวเอง 

“กระดุมเม็ดแรกของนายกที่ผิดคือท่านคิดว่าจะใช้อำนาจและกฎหมายในการจัดการ มันต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด” 

ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องไปถึงคุณภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่ควรเน้นไปที่การ กระจายอำนาจ เพราะในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ “คนคนเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้”

เท่านั้นยังไม่พอ คนเป็นผู้นำต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความมั่นใจ ไม่ใช่ความกลัว การให้ความรู้จะช่วยลดปัญหาความตระหนกในประชาชนลงได้ ทั้งยังช่วยให้กระบวนการแสดงความร่วมมือของประชาชนเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่สะดุด แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้จริงทางวิทยาศาสตร์มาให้ความรู้ "ไม่ใช่นักกฎหมาย หรือนักความมั่นคง"

สำหรับกรณีตัวอย่างประชาชนที่กำลังมีความกังวลเรื่องวัคซีน ดร.ทักษิณ ชี้ว่า การแก้ปัญหาไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด เมื่อมีการแพ้ รัฐบาลจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ประชาชนรับทราบว่าการแพ้เกิดขึ้นจากสิ่งใดกันแน่ จากตัววัคซีน หรือเงื่อนไขเฉพาะตัวบุคคลที่ได้รับวัคซีน 

หากติดอยู่ในกรณีที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้โดยเร็ว รัฐบาลต้องระงับการฉีดวัคซีนต้องสงสัยดังกล่าวก่อน และกันไปฉีดวัคซีนทางเลือกอื่นแทน ทว่าปัญหาของไทยคือมีวัคซีนเพียงพอหรือไม่ 

แนวทางการแก้ปัญหาสภาวะขาดแคลนวัคซีนให้กับรัฐบาลปัจจุบันว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันคือความเร่งด่วย ซึ่งเร่งด่วนหมายความว่าระบบราชการตามปกติไม่รวดเร็วเพียงพอ 

“เราต้องรอให้สยามไบโอไซเอนซ์เสร็จก่อนเหรอ เอาจากที่อื่นก่อได้ไหม ตอนนี้มันเร่งด่วน มันต้องเร่งด่วนจริงๆ ประเทศไหนมีเหลือ ไปขอเจรจาแบ่งซื้อได้ไหม แลกเปลี่ยนได้ไหม เอาของเข้ามาก่อน ไฟเซอร์สิงคโปร์เหลือไหม อิสราเอลเหลือไหม ไปคุยสิครับ” 

"ศักยภาพทางการทูต ความสัมพันธ์ส่วนตัวใช้เข้าสิครับ”


คลัสเตอร์คลองเตยต้องทำเช่นไร ? 

คลัสเตอร์คลองเตยถือเป็นหัวข้อสำคัญในการพูดคุยครั้งนี้ โดย ดร.ทักษิณ ย้ำว่ามาตรการขั้นแรกที่สำคัญและต้องปฏิบัติอย่างเร่งด่วนคือการคัดกรองเชิงรุก ก่อนจะทยอยฉีดวัคซีนไปควบคู่กัน เพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดในกลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่อย่างแออัดระบาดออกไปในวงกว้าง 

อีกทั้งรัฐบาลยังควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ปล่อยให้สูญเปล่าเช่นที่เป็นอยู่ 

"ขณะนี้ร้านอาหารกำลังจะเจ๊งหมดแล้ว ทำไมไม่ลองเอางบที่รัฐบาลกู้มาไปให้กรุงเทพมหานคร เข้าไปอุดหนุนซื้ออาหารจากร้านที่กำลังจะเจ๊งเหล่านี้ แล้วนำไปแจกให้กับผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด อย่างน้อยที่สุดหนึ่งมื้อต่อวันก็ยังดี"

ในทำนองเดียวกันกับโรงแรมรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการขาดนักท่องเที่ยว เหตุใดจึงไม่นำเงินกู้เหล่านี้ไปอุดหนุนโรงแรมรายย่อยเหล่านี้แล้วเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลสนามแทน 


“ย้ายประเทศกันเถอะ”

ดร.ทักษิณ สรุปปรากฏการณ์กลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ ที่มีสมาชิกเติบโตกว่า 700,000 รายเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า สรุปแล้วเป็น “เราไม่พยายามจะเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะในประชาชนเจนวายและเจนซี นี่คือช่องว่างระหว่างรุ่น มันคิดต่างกันและไม่พยายามจะเข้าใจกัน”

“ความไม่เข้าใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความไม่อยากฟังและความมีอำนาจแล้วอยากจะใช้แต่อำนาจมันไม่ได้”

ดร.ทักษิณ ชี้ว่า เด็กสมัยใหม่เหล่านี้กำลังมองว่าโลกเดินไปข้างหน้าแล้ว แต่ประเทศไทยยังเป็นเช่นนี้ แล้วพวกเขาจะไปทางไหนต่อได้

“ถ้าเรามองย้อนไปสมัยก่อน มีผู้หลบหนีไปอยู่สหรัฐฯ เต็มไปหมด มันมีมาช้านานและมันมีทุกประเทศ ทุกคนเกิดมาแล้วดิ้นรนเพื่ออนาคตตัวเอง ฉะนั้นถ้าดิ้นรนแล้วเมืองไทยไม่มีทางให้เขา สมัยก่อนไปแบบหลบหนี สมัยนี้เขามีความรู้ ประกอบกับประเทศฝั่งนั้นก็อยากได้ ก็เป็นช่องว่าง เป็นโอกาส”

สำหรับปัญหาของประเทศคือไทยมีประชากรเยอะ แต่เศรษฐกิจประเทศช้าลงเรื่อยๆ “ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือไม่มีความสามารถ” เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กรุ่นใหม่จึงต้องคิดหาทางออกให้ตนเอง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่บทบาทที่สังคมควรไปกล่าวหาว่าเด็กเหล่านี้ไม่รักชาติ แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่ต้องสร้างเศรษฐกิจขึ้นมา สร้างความหวังให้กับเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ 

“ถ้าช่องทางที่ถูกกฎหมายไม่เปิดให้เขา เขาก็จำเป็นต้องไปหาเงินจากช่องทางที่ผิดกฎหมาย นี่เป็นทฤษฎีเพื่อความอยู่รอด นี่เป็นธรรมชาติ”

“ถ้าจีดีพีโตแบบนี้ เด็กจบใหม่ตกงานหมด จีดีพีไทยต้องโต 4.5%-5% โดยเฉลี่ย นี่ยังไม่ได้คิดเรื่องการแทรกแซงของเทคโนโลยีที่จะทำให้คนตกงาน”

“พยายามเข้าใจเขา อย่าไปมองว่าคนเหล่านี้ไม่รักชาติ บ้าไปแล้ว มันตกยุค”

สรุปอนาคตไทยต้องทำยังไง ?

ท้ายสุดแล้วเมื่อมองหาทางรอดของประเทศไทยในองค์รวม ดร.ทักษิณ แนะว่าไทยต้องเข้าสู่ภาวะ “ไล่ล่าหาวัคซีนจากทั่วโลก” และรัฐบาลเองต้องใจกว้างเปิดให้ทุกฝ่ายสามารถจัดหาวัคซีนในประเทศอย่างเสรีได้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่รวบอำนาจการการจัดหาวัคซีนไว้ที่รัฐบาลอย่างเดียว 

เมื่อสามารถแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนวัคซีนได้แล้ว สิ่งต่อไปที่รัฐบาลต้องพิจารณาคือการหันกลับมายังภาคธุรกิจของไทยทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝั่งการท่องเที่ยวที่กินสัดส่วนถึง 10% ของเศรษฐกิจไทย 

ในห้วงเวลาเดียวกันกับการผลักดันประเทศให้ไปต่อ รัฐบาลต้องหันกลับมาเปิดโต๊ะพิจารณาการเยียวยาให้กับกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการปูพรมแจกเงินอย่างที่เป็นอยู่ซึ่งไม่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง 

"หลังจากที่ประชาธิปไตยหายไป การพูดคุยมันเป็นจากบนลงล่าง ใช้กฎหมายนำ น่าเสียดาย"

ในมิติที่กลับมาคำนึงถึงประชาชน ดร.ทักษิณ นำกรณีเด็กรุ่นใหม่กลับมาเป็นประเด็นให้รัฐบาลพิจารณาตัวเองอีกครั้ง ว่าเหตุใด "ไม่ลองเชิญตัวแทนมานั่งคุยเพื่อปรึกษาว่ารัฐบาลทำอะไรได้บ้างเพื่อคนเหล่านี้ และเมื่อพ้นช่วงวิกฤตแล้วรัฐบาลสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง"


ช่วงประชาชนถาม - ทักษิณตอบ 
  • ทักษิณตอบ : ถ้าเป็นนายกจะคุยยังไงให้เด็กไม่ออกนอกประเทศ ?

ถ้าผมเป็น(นายก) คงไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ไม่ปล่อยแน่ 

เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่านี้ วิธีคิดของไทยชอบทำงานทีละอย่าง เราต้องเอาปัญหาทั้งหมดมาแก้พร้อมกัน และมองไปให้ถึงอนาคต 

โดยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น ระยะสั้นต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ต้องทำ ขณะเรื่องที่สอง ต้องกลับมาฟื้นความเชื่อมั่นกับประเด็นโรคระบาดให้น้อยลง แล้วรีบเปิดเศรษฐกิจโดยเร็ว เยียวยาแบบไม่เน้นการเมืองนำ 

  • ทักษิณตอบ : ย้ายประเทศไปไหนดี ? 

จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันอยู่ที่ความถนัดของเรา และเรามีคนรู้จักอยู่ที่ไหนหรือไม่ อาจจะต้องหาข้อมูลความถนัดที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ 

  • ทักษิณตอบ : ทำยังไงให้รัฐธรรมนูญดีไม่โดนฉีกทิ้ง ?

ผมก็โดนฉีกมาแล้ว น้องสาวก็โดนฉีกมาแล้ว สรุปแล้ววันนี้ประชาชนไทยต้องสนใจการเมืองกว่านี้ ถ้าเราสนใจการเมือง การเมืองจะสนใจเรา 

  • ทักษิณตอบ : จัดสรรการช่วยเหลือยังไง ? 

วันนี้มันต้องมีมาตรการเยียวยา จะเป็นวิธีไหนกระทรวงการคลังต้องเป็นหลักในการคิด อย่างกรณีเยอรมนีรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้ส่วนหนึ่ง ของไทยการพักหนี้ก็ต้องทำ การช่วยบรรเทาภาษีค้างจ่ายเลื่อนไปกี่ปีต้องพิจารณาไปแล้วแต่ละกรณี 

กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้ มีจำนวนเท่าไหร่ เดือดร้อนเท่าไหร่ รวมรายละเอียด ต้องช่วย กู้มาแล้วก็ต้องช่วย

เศรษฐกิจเปราะบางเมื่อไหร่เอสเอ็มอีไปก่อนเพื่อน วันนี้รัฐจะช่วยเอสเอ็มอีอย่างไร เหตุเกิดที่ไหนดับไฟที่นั่น ทางออที่ดีที่สุดคือช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาโดยเร็ว แต่ระหว่างรอให้รอดนั้น ต้องมองว่าจะช่วยค่าแรงอย่างไรไม่ให้คนตกงาน ช่วยเรื่องหนี้อย่างไร แต่กรณีหลังซับซ้อนหน่อยเพราะไปเกี่ยวข้องกับธนาคาร ซึ่งปัจจุบันธนาคารไทยก็คงจะหนักอยู่เหมือนกัน 

เพราะฉะนั้นรัฐต้องคิดให้ครบทั้งระบบ ช่วยเอสเอ็มอีเสร็จกระทบแบงก์ จะช่วยแบงก์ต่ออย่างไร วิธีดีที่สุดคือแก้โควิดและเปิดเศรษฐกิจ 

  • ทักษิณตอบ : ปฏิรูปปรับโครงสร้างการศึกษายังไง ? 

ต้องกระจายอำนาจการศึกษาและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ยังต้องให้อิสรภาพในการศึกษากับเด็กเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่พร้อม ต้องวางรากฐานตรงนี้ 

ระบบหลักสูตรไม่ผูกขาดอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการเอาเทคโนโลยีที่มีมาช่วยเพราะเราพัฒนาครูไม่ทัน 

  • ทักษิณตอบ : จะปรับปรุงความอ่อนแอของการสื่อสารภาครัฐยังไง ?

ต้องพูดกับประชาชนให้รู้ว่านี่คือประชาชนนะ ไม่ใช่พลทหาร ถ้าพูดกับประชาชนแบบประชาชน เราจะให้เกียรติและอธิบายให้คนเข้าใจ แต่ถ้าคิดว่าเป็นพลทหาร จะพูดแบบสั่งการ

คนที่พูดก็ต้องรู้จริงว่าจะพูดอะไร เหมือนเราเป็นครู ถ้าครูไม่เตรียมการสอน ไม่มีความรู้ในการสอน เด็กก็ไม่ฟัง วันนี้ถ้าคิดจะสื่อสารกับประชาชน ต้องมองประชาชนเป็นประชาชน สนับสนุนให้พวกเขามีความรู้เพื่อตัดสินใจกับชีวิตของเขาเองได้

  • ทักษิณตอบ : อนาคตประยุทธ์จะเป็นยังไง ? 

ต้องถามคุณประยุทธ์เองว่าเบื่อหรือยัง การเมืองวันนี้ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ทุกอย่างพังหมด แต่เก้าอี้นายกยืนยงมั่นคงสถาพร 

เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ก็ต้องดูที่การเลือกตั้งผมไม่เชื่อว่าการเมืองคราวหน้าเสียงจะเป็นเบี้ยหัวแตกแบบคราวที่แล้ว 

  • ทักษิณตอบ : พี่โทนีอยากกลับบ้านหรือยัง ? 

ได้กลับก็ดีใจ แต่อย่างที่บอกโลกทั้งโลกคือบ้านของเรา ถ้าได้กลับอยากกลับมาเลี้ยงหลาน