ไม่พบผลการค้นหา
การท่าเรือแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีมีข่าว สหภาพการท่าเรือฯ ขู่จัดม็อบประท้วงภาครัฐปมโมเดลคลองเตย ว่าการท่าเรือฯ มีแผนบริหารจัดการสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ สร้างผลตอบแทนสูงสุด จึงมีแนวคิดจัดตั้ง 'บริษัทในเครือ' ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ส่วนการท่าเรือฯ ถือหุ้นร้อยละ 25-50

การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อบางสำนักในหัวข้อข่าว "สหภาพการท่าเรือฯ หัวร้อน ขู่จัดม็อบประท้วงภาครัฐ ปมโมเดลคลองเตย" ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของการท่าเรือฯ จากกรณีที่กล่าวมานั้น การท่าเรือฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. การท่าเรือฯ มีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจทั้งในส่วนของภารกิจหลัก (Core Business) และภารกิจรอง (Non-Core Business) และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ แต่เนื่องจากปัจจุบัน การท่าเรือฯ ยังไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาบริหารจัดการได้อย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ อันเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่อาศัย การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเชิงธุรกิจ และการขาดเทคโนโลยีสนับสนุนการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งโครงสร้างองค์กรไม่เอื้ออำนวย

ดังนั้น การท่าเรือฯ จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาพร้อมจัดทำรายงานการศึกษา การจัดตั้งบริษัทในเครือเพื่อบริหารสินทรัพย์ของการท่าเรือฯ โดยผลการศึกษาสรุปว่า รูปแบบในการจัดตั้งบริษัทในเครือฯ ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ รูปแบบที่การท่าเรือฯ ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ขึ้นไป แต่ไม่เกินร้อยละ 50 โดยยังคงถือเป็นบริษัทในเครือของการท่าเรือฯ และยังเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีระยะเวลาให้เอกชนใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาตลอดระยะโครงการ 30 ปี และคำมั่นจะให้เช่าต่อได้อีก 30 ปี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้การท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก รายได้จากการให้สิทธิเอกชนใช้ที่ดิน ซึ่งการท่าเรือฯ จะได้รับเงินจากสิทธิการใช้ที่ดินของการจัดตั้งบริษัทในการพัฒนาแต่ละโครงการ เป็นเงินจำนวน 82,834 ล้านบาท และส่วนที่สอง เงินปันผลผ่านการถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ซึ่งการท่าเรือฯ จะได้รับเงินปันผลจากบริษัทในเครือเป็นเงินจำนวน 447,236 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวจะเป็นรายได้ที่เพิ่มมาจากการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภารกิจรอง (Non-Core Business)


S__59596814.jpg


2. สำหรับนโยบายการจ่ายเงินค่าชดเชยและการย้ายชุมชนคลองเตย อยู่ระหว่างการพิจารณาสิทธิประโยชน์โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) โดยกำหนดมูลค่าหรือสิทธิประโยชน์จากการรับสิทธิทั้ง 3 ทางเลือก ประกอบด้วย การย้ายขึ้นอาคารสูงในพื้นที่องค์การฟอกหนัง (เดิม) (อาคารชุด) การย้ายไปพื้นที่ว่าง (ที่ดินเขตหนองจอก) และการรับเงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนาให้ได้รับมูลค่าหรือสิทธิประโยชน์ในวงเงินที่เหมาะสมและเสมอภาคกัน ซึ่งยังไม่มีนโยบายในการจ่ายเงินค่าชดเชยการย้ายชุมชนคลองเตย จำนวน 2 ล้านบาท ต่อครอบครัว แต่อย่างใด