ไม่พบผลการค้นหา
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันมติเดิมไม่เข้าร่วม 'คณะกรรมการสมานฉันท์' จนกว่ารัฐบาล-คู่ขัดแย้งจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศปรองดอง

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านยังยืนยันมติเดิม คือ จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุม คุมขังผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุม อย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการ การปรองดองจะไม่เกิดขึ้น

ด้าน ธวัชชัย ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นด้วยในการสร้างความสมานฉันท์ แต่ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการรัฐประหาร ระบอบการเมืองที่นับวันยิ่งถอยห่างจากประชาธิปไตย การปฏิบัติข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง และการใช้อำนาจผ่านกระบวนการกฎหมาย ที่ใช้ปราบปรามผู้ที่แสดงออกทางการเมือง ดังนั้นต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา และการจะสร้างความปรองดองได้ต้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เพราะไม่สามารถนำไปสู่การพูดคุยสร้างความปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องไม่สร้าง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจอีก และยุติการสนับสนุนระบอบการเมืองที่มาจากรัฐประหาร

ขณะที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ มองว่า รัฐบาลต้องแสดงออกอย่างจริงใจ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไข จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขความขัดแย้ง ต้องแก้ไขอำนาจของ ส.ว. และแก้ไขสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาได้

ส่วนสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีความจริงใจ ซึ่งดูจากรายชื่อที่รัฐบาลส่งเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ชัดเจนว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยกยิ่งขึ้น การส่งตัวแทนของรัฐบาลต้องมีความจริงใจ ไม่ใช่สร้างความแตกแยกมากขึ้น ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะหากเข้าร่วมจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล

นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า การสร้างความปรองดองนั้นสามารถทำได้ โดยการเริ่มจากผู้นำ แม้ที่ผ่านมาจะพยายามเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดอง แต่ก็ยังไม่เห็นความจริงใจ และเห็นว่า นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ควรเข้ามาร่วมในคณะกรรมการเชื่อจะช่วยสร้างความปรองดองได้ แต่การตั้งกรรมการครั้งนี้ ไม่เกิดประโยชน์ และเป็นการยื้อเวลาให้รัฐบาลมากกว่า 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หากมองในมุมของระบอบประชาธิปไตย เป็นการลดทอนอำนาจประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ความเสมอภาค และความเท่าเทียม เพราะการที่จะปรองดองได้ต้องเปิดให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ครั้งนี้ เป็นการพยายามผลัดภาระไปให้ประธานรัฐสภา เพราะที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภาเคยแนะทางออกให้นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเพียงรับฟังแต่ไม่ทำตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :