สำนักงานโฆษก กระทรวงกลาโหม เผย วันนี้ 14 พฤษภาคม 2568 เวลา 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) — ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี: นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้แทนจากประเทศไทยได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติการรักษาสันติภาพฯ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้งสหประชาชาติ และ 10 ปีของการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการรักษาสันติภาพ
รอง นรม./รมว.กห. ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ได้กล่าวถ้อยแถลงย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการธำรงสันติภาพบนพื้นฐานของพหุภาคีนิยมและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเน้นแนวคิด “สันติภาพที่ยั่งยืน” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระยะยาวควบคู่กับการรักษาความมั่นคง พร้อมชูหลักการสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
• การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะบทบาทของสตรีในภารกิจรักษาสันติภาพ
• การจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ ทั้งในด้านบุคลากรและงบประมาณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจ
รอง นรม./รมว.กห. ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ได้ประกาศคำมั่นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่:
1. ขีดความสามารถของกำลังพล (Uniformed Capabilities):
ไทยจะสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD Unit) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ในภารกิจรักษาสันติภาพ
2. การฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถ (Training and Capacity Building):
ไทยจะเป็นเจ้าภาพการฝึกอบรมภายใต้โครงการไตรภาคี (TPP) ร่วมกับสหประชาชาติ ในช่วงปี พ.ศ. 2570–2571 รวมถึงการจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านการรักษาสันติภาพในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ UN
3. วาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง (Women, Peace and Security):
ไทยจะสนับสนุนการส่งเจ้าหน้าที่หญิงในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการและผู้สังเกตการณ์ทางทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงรักษาสันติภาพ ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของกำลังประเภทบุคคล ในภารกิจ UNMOGIP, UNMISS และ UNISFA
พร้อมทั้งดำเนินมาตรการจัดสรรที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับความต้องการด้านเพศสภาวะ
คำมั่นนี้สะท้อนเจตนารมณ์ของไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และขับเคลื่อนวาระ “สตรี สันติภาพ และความมั่นคง” ให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของข้อมติ UNSC 1325 (ค.ศ. 2000)
ประเทศไทยเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือจากประชาคมระหว่างประเทศ เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการสร้างสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืนให้กับโลกของเราอย่างแท้จริง