"นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ วันสิ้นโลกคือเรื่องจริง ยิ่งรอนานเท่าไหร่ทุกอย่างจะยิ่งเลวร้ายลง ... อีกแค่นาทีเดียวก็จะถึงเที่ยงคืนของวันสิ้นโลก เราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้" บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวในช่วงพิธีเปิด
การประชุม COP26 เป็นดั่งความหวังที่ผู้คนทั่วโลกต้องการได้ยินคำมั่นสัญญาของบรรดาผู้นำทุกชาติ ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม โดย บอริส จอห์นสัน รับบทหนักในการโน้มน้าวให้ผู้นำนานาชาติให้คำมั่นสัญญาเพื่อลดการใช้พลังงานถ่านหินลงอย่างเป็นรูปธรรม เดินหน้าผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ ยุติการตัดไม้ทำลายป่า และการขอเงินทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วนต่อไป
อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวบนเวทีว่า ความคิดที่ว่าเรายังสามารถแก้วิกฤตอันใหญ่หลวงนี้ได้เพราะเรากำลังมาถูกทาง "นั่นคือภาพลวงตา" พร้อมย้ำว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับความจริง และเรากำลังมุ่งไปสูงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
"วิทยาศาสตร์ชี้ให้เราเห็นแล้วอย่างชัดเจน เรารู้ว่าต้องทำอะไร การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสคือหนทางเดียว เราต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น และโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45% ภายในปี 2030 ซึ่งกลุ่มชาติสมาชิก G20 มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 80% ของทั้งโลก ฉะนั้น ประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานี้"
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายแห่งเวลส์ ตรัสกับบรรดาผู้นำโลกว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือเรื่องเดียวกัน และเป็นภัยคุกคามต่อการมีอยู่ของมนุษยชาติ พระองค์ทรงต้องการให้นานาประเทศร่วมมือกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถดำเนินมาตรการสำคัญจำเป็นเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนด้วยกันแม้ว่าจะต้องใช้เงินนับล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม เพราะนี่คือปัญหาที่ไร้พรมแดน
บอริส จอห์นสัน กล่าวกับผู้ร่วมประชุมว่า ผู้นำโลกทุกคนต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน มิเช่นนั้นคนรุ่นลูกรุ่นหลายก็จะไม่มีโอกาสได้แก้ปัญหาอีกต่อไป "หากอุณหภูมิโลกสูงแตะ 4 องศาเซลเซียส เมืองทั้งเมืองอย่างไมอามี หรือเซี่ยงไฮ้ จะจมอยู่ใต้น้ำทะเล"
ทั้งนี้ งานประชุม COP26 เกิดขึ้นต่อจากประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 อันประกอบไปด้วยชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศและสหภาพยุโรป ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2542 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยในปีนี้จัดขึ้นที่กรุงโรมของอิตาลี ประเด็นหลักของการร่วมประชุมในปีนี้คือการรับมือกับปัญหาโควิด-19 และวิกฤตโลกร้อนที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ หลายฝ่ายมองว่านี่คือโอกาสสุดท้ายในการหาทางออกร่วมกัน ก่อนทุกอย่างจะ 'สายเกินไป'