จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพกิจกรรมสัปดาห์วิชาการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งเป็นภาพการมอบรางวัลชนะเลิศให้กับสามเณร 4 รูปที่ชนะการแข่งขัน e-sport ทำให้โลกออนไลน์เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่าเป็นการกระทำธรรมวินัยหรือไม่นั้น
โดยวานนี้ (19 ส.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงราม เหมือนฤทธิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค. 2562 เป็นการจัดงานร่วมกัน 2 งาน เนื่องจากสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เพื่อบริการงานด้านวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และแขนงต่างๆ ที่วิทยาเขตหนองคายได้เปิดสอน โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง Soft Skill ซึ่งไม่เน้นหนักทั้งวิชาการหรือวิทยาศาสตร์จนเกินไป ให้เด็กได้แสดงความสามารถที่เด็กชอบออกมา และเป็นการให้นักศึกษาทั้ง 4 คณะของวิทยาเขตหนองคายได้มีเวทีในการนำเสนอความรู้มาใช้จริงในรูปแบบของสตาฟจัดการแข่งขัน เป็นผู้ให้ความรู้ และเป็นวิทยากร ซึ่งกิจกรรมมีหลากหลายทั้งการประกวดแข่งขันทักษะวิชาการ และการกีฬา ฟุตซอล, e-sport รวม 29 กิจกรรม
การที่จัดแข่ง e-sport ขึ้นมาเพราะวิทยาเขตมีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ดังนั้น e-sport เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สาขาคอมพิวเตอร์ฯ ต้องเข้ามามีบทบาท โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการแข่งขันก่อนจะประกาศให้ทราบว่าโรงเรียนใดมีคุณสมบัติเข้าร่วมได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า โดยโรงเรียนพระปริยัติธรรมก็เทียบเท่าโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป ซึ่งหลักเกณฑ์จะเป็นทางโรงเรียนเป็นผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ใช่ตัวนักเรียนสมัครเอง
สำหรับการแข่งขัน e-spot มีอยู่ 2 รายการ คือ ROV และ speed drifter ซึ่งสามเณรที่ชนะเลิศ ไม่ใช่ ROV แต่เป็น speed drifter แต่คนทำป้ายด้านหลังเวที ทำระบุไว้เฉพาะ ROV ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นรางวัลชนะการแข่งขัน ROV ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าทุกคนเป็นเด็กนักเรียน ไม่ว่าเป็นนักเรียนธรรมดา หรือ นักเรียนสามเณร บาลีศึกษา, จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ถือเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีแผนการเรียนเหมือนโรงเรียนมัธยมทั่วไป ที่ต้องการพัฒนาทักษะการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ และมีครูโรงเรียนส่งเข้าร่วมแข่งขันตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงราม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของสามเณร ทางวิทยาเขตได้สอบถามไปยังกรมการศาสนาแล้วและได้คำตอบว่า กิจกรรมนี้เป็นการแข่งขันทักษะทางคอมพิวเตอร์ จึงไม่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ผิดวินัยแต่อย่างใด
ด้านนายธนภัทร วงษ์คำจันทร์ อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นในสังคม เพราะทางโรงเรียนได้โทรศัพท์มาสอบถามก่อนแล้วว่าจะอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันได้หรือไม่ ทางวิทยาเขตได้แจ้งไปว่าถ้าเข้าเกณฑ์ตามที่ได้แจ้งประกาศไว้ในระดับชั้นการศึกษาก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ซึ่งกรณีนี้สามเณรก็เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา และทางโรงเรียนอนุญาตให้มาได้ วิทยาเขตก็ยินดีให้เข้าร่วม โดย ROV มีทีมเข้าร่วมแข่ง 40 ทีม มีสามเณรแข่งด้วยแต่ไม่ได้รางวัล ส่วน Speed Drifter มีสามเณรทีมเดียวเข้าแข่งและได้รางวัลชนะเลิศไป
สำหรับโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษาฯ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) มีการส่งสามเณรที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 9 ทีม โดยเข้าร่วมทั้งหมด 4 กิจกรรม ประกอบด้วยตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จำนวน 2 ทีม , ตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า จำนวน 1 ทีม , การแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ROV ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 3 ทีม, ตอบปัญหาทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จำนวน 2 ทีม และการแข่งขันการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ Speed Drifter ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1 ทีม ที่ทำการแข่งขันจนได้รับรางวัลชนะเลิศ