‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ครอบคลุมประชากรแค่ไหน? ปัจจุบันคนที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำมีอยู่ราว 4-6 ล้านคน (แล้วแต่วิธีสำรวจ) และโดยมากจะเป็นแรงงานต่างด้าว การบังคับใช้ก็จะทำเฉพาะกับสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเท่านั้น เรียกว่าต้องมีการจดทะเบียนทางการ มีการทำสัญญาจ้างงานกับลูกจ้าง มีการจ่ายประกันสังคม ฯลฯ
อย่างไรก็ดี การปักหมุด ‘ขั้นต่ำ’ ก็เหมือนวงคลื่นที่จะกระเพื่อมสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมบางส่วนแสดงความกังวลในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่มในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศเพิ่งโงหัว บางส่วนไม่กังวลนัก เพราะเป็นการตั้งเป้าในอีก 4-5 ปี ส่วนพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนี้ เสนอในกรอบการมองแรงงานในฐานะ ‘มนุษย์’ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ‘ทำได้จริง’ เพราะมีเมนูนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโต
ท่ามกลางข้อถกเถียงมากมาย ‘วอยซ์’ พาไปคุยกับผู้มีส่วนกำหนดค่าจ้างตัวจริง คือ ‘ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ’ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อทำความเข้าในระบบกำหนดค่าจ้างที่ผ่านมา ข้อกังวลต่างๆ ว่าน่าคิดต่อหรือไม่เพียงใด
ผศ.ศุภชัย ตั้งต้นให้นิยาม ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ให้ตรงกันเสียก่อนว่า มันคือค่าแรงสำหรับ
"แรงงานที่เข้ามาอาจเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ที่สถานประกอบการต้องเอามาฝึก เมื่อมีฝีมือจึงขยับตัวค่าจ้างเพิ่มขึ้น" ที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้างกล่าว
เรื่อง 'นิยาม' เป็นประเด็นตั้งต้นของความแตกต่าง เพราะนโยบายพรรคการเมือง หรือการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์อีกแนวหนึ่งกำลังพูดถึง คือ ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ซึ่งมีนิยามว่า ค่าแรงที่แรงงานได้รับเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ‘และครอบครัว’ ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นิยาม ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ นั้นล้อไปกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี แต่จริงๆ แล้วไทยเองตอนกำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2516 ก็ใช้นิยามนี้แหละ แต่ใช้ได้ 2 ปี นิยามก็ถูกปรับมาให้ครอบคลุมแค่ ‘แรงงาน 1 คน’ ไม่นับครอบครัว
‘คณะกรรมการไตรภาคี’ หรือตัวแทน 3 ฝ่าย นายจ้าง-รัฐ-ลูกจ้าง จะเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ไหนแต่ไรมา โดยไม่ได้มีสูตรคำนวณแน่ชัด เน้นการเจรจาต่อรองและดูตัวแปรอย่างเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว
Rocket Media Lab ทำการรวบรวมการขึ้นค่าแรงพบว่า
ผศ.ศุภชัยระบุว่า นับตั้งแต่ยุคยิ่งลักษณ์มา คณะกรรมการค่าจ้างจึงมี ‘ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ’ ที่มาช่วยจัดทำสูตรการคำนวณบนหลักวิชาการ และให้ครอบคลุมครบถ้วนตามมาตรา 87 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และแต่ละพื้นที่ก็จะมีค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากัน
"วิธีการได้มาซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1. อนุกรรมการฯ จังหวัดซึ่งเป็นไตรภาคี นายจ้าง-ลูกจ้าง-ภาครัฐ จะนั่งคุยกันกำหนดขึ้นมา 1 ตัวเลขพร้อมเหตุผล 2. เข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการฯ วิชาการ 3.เข้าสู่กรรมการชุดใหญ่ ซึ่งผมอยู่ในนั้น หลักในการขึ้นค่าจ้างในปัจจุบันจะมีสูตร ทีมผมเป็นคนคิดสูตรขึ้นมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วหลังจากที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตอนที่ขึ้นครั้งแรกหลัง 300 ไปแล้ว เราคิดสูตรกันที่เป็นหลักการทางวิชาการ สูตรมีความไหวตัวอยู่ สามารถปรับได้ตามเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ของพื้นที่ ตามม.87 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน"
“เราปรับตามสูตร ข้อคิดเห็น และพื้นที่ข้างเคียง ในกลุ่มจังหวัดเดียวกันไม่ควรต่างกันเยอะเพราะจะเกิดการไหลของแรงงาน เพราะฉะนั้นในกระบวนการไตรภาคีนั้นคุยกันรู้เรื่อง มีที่ปรึกษาอีก 5 คนนั่งอยู่ การได้มาซึ่งข้อตกลงตรงเข้าหลัก ILO ทุกอย่าง โดยหลักการแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็แทรกแซงไม่ได้” ผศ.ศุภชัยระบุ
ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สภาพัฒน์ระบุว่า อุตสาหกรรมที่กระทบเยอะได้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกำลังอยู่ในช่วงขาลง เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง ส่วน ธปท.ระบุรวมไปถึงอุตสาหกรรมพลาสติก เหล็ก แต่คราวนี้ ผศ.ศุภชัยระบุว่า กลุ่มที่ลำบากน่าจะเป็น SMEs เพราะต้องแบกต้นทุนเป็นรายวัน แต่มาตรการที่รัฐช่วยทางภาษีนั้นเป็นรายปี และอาจรวมไปถึงเกษตรกรรม เหมืองแร่
ผศ.ศุภชัย ตอบว่า เพราะหากกำหนดให้ทุกพื้นที่เท่ากัน ในขณะที่ค่าครองชีพไม่เท่ากัน สถานประกอบการก็คงไม่มีใครอยากไปลงทุนไกลแล้วเสียต้นทุนที่แพง เพราะนโยบายรัฐก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ออกไปไกล ปัจจัยทั้งหลายนี้เอามาคำนวณในการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้ามีการแทรกแซงค่าจ้างขั้นต่ำให้หลุดออกจากกรอบ ก็ต้องมีเหตุผลพอสมควรว่าทำไมถึงจะหลุดจากกรอบนั้น
"นโยบายที่เสนอมา ไม่ได้บอกว่าไม่ดี ถ้าเศรษฐกิจโต แล้วค่าจ้างปรับตัวตามเงื่อนไขที่ควรจะเป็น คือ ผู้ประกอบการอยู่ได้ แรงงานมีศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเพียงพอที่จะได้รับค่าจ้างในเรทนั้น"
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงค่าจ้างสำหรับ "คนแรกเข้า" การปรับค่าแรงเพิ่มอาจต้องดูว่าจะกระทบคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าปรับเป็น 350 บาท มีคนที่ได้ต่ำกว่า 350 บาทอยู่เท่าไร นั่นแปลว่าสถานประกอบการต้องขยับหมด
"ปัญหาอยู่ที่ว่า มีคนอายุงานไม่เท่ากันอยู่ในนั้น การขยับแบบปรับฐานให้เท่ากันหมด แปลว่า เรากำลังทรีตว่าประสบการณ์การทำงานของคนไม่ได้มีผลอะไรเลย เพราะเวลาสถานประกอบการขยับตอน 300 บาท คนได้ใกล้ 300 ก็ขยับเป็น 301 บาท ส่วนคนต่ำกว่า 300 ก็ขยับเป็น 300 แล้วบอกว่า 1 บาทนี้เป็นค่าประสบการณ์ เราไม่อยากเห็นแบบนั้น เราอยากเห็นเป็นขั้นบันไดขึ้นไป คนประสบการณ์เยอะต้องบวกเยอะ แต่มันไม่ได้ขยับแบบนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำโครงสร้างค่าจ้าง สิ่งที่เขาทำคือ ให้ค่าจ้างขั้นต่ำไปเรื่อยๆ"
"จริงๆ ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าขึ้นไปรอคือ กรณีที่ต้นทุนของสินค้ามันสูงขึ้นผ่านกระบวนการที่มีค่าจ้างสูงขึ้น ถ้าปรับค่าจ้างราคาสินค้าก็จะสูงขึ้น ถ้ากิจการไหนใช้แรงงานเข้มข้นก็ควรต้องปรับราคาเยอะเพราะต้นทุนมันเป็น % ในสัดส่วนสูงกว่า คำถามคือ ถ้าเราไม่ปรับให้คนที่เกินค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นด้วย อำนาจซื้อของคนกลุ่มนั้นก็จะลดลงโดยเปรียบเทียบ"
ศุภชัยอธิบายต่อไปอีกว่า ผลบังคับใช้ของค่าจ้างขั้นต่ำ คือบังคับสถานประกอบการให้จ้างในราคาเท่านั้น ฉะนั้น สถานประกอบการมีทางเลือกอื่นคือ 'ไม่จ้าง' ถ้าคิดว่าแรงงานทำรายได้ให้เขาไม่คุ้มกับ 18,000 บาทต่อเดือนกรณีคิด 600 บาทต่อวัน หรือไม่เช่นนั้นอาจเกิดการ 'เปลี่ยนสภาพการจ้างงาน' ตรงนี้หลายคนไม่ค่อยพูดถึง เช่น เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างทำของแทน ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน แรงงานก็จะขาดการได้รับความคุ้มครอง เพราะไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างแบบเดิม ฉะนั้น สถานประกอบการก็อาจไม่จ่ายประกันสังคมก็ได้ เพราะมันไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานแล้ว แต่เป็นจ้างทำของ ผมถึงไม่ห่วงสถานประกอบการ แต่คนที่น่าห่วงคือ ตัวแรงงาน
หรืออีกแบบหนึ่ง สถานประกอบการก็ 'เลือกเอาเทคโนโลยีมาใช้แทน' ในเมื่อรู้ว่าแรงงานต้องปรับราคาขึ้นตลอดก็ใช้เครื่องจักรแทนเลย
"ยังไม่ได้นับต่อว่า ถ้าปรับฐานเป็น 600 แปลว่า ค่าสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ จะตามมา เช่น ค่าประกันสังคม การจ่ายโบนัส แต่บทเรียนตอน 300 นายจ้างก็ฉลาด แปลงสวัสดิการที่เคยให้ฟรีต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่แรงงานต้องจ่ายเอง เช่นของเดิมเคยมีข้าวให้ มีที่อยู่อาศัยให้ ก็ชาร์จค่าข้าว ค่าที่อยู่อาศัย นายจ้างเองมีวิธีการในการปรับรูปแบบ ถ้าปรับเยอะ นายจ้างหาตัวมาชดเชยไม่ได้ นี่คือสิ่งที่นายจ้างจะโวย แต่ถ้ามีเวลา เดี๋ยวนายจ้างก็หาทางได้"
เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายพูดว่าค่าแรงขึ้นอุตสาหกรรมหรือนักลงทุนจะเลือกไปประเทศที่ค่าจ้างถูกกว่า ศุภชัยตอบว่า อย่าคิดว่ากดราคาค่าจ้างแรงงานไว้แล้วเขาจะอยู่ ประเด็นคือ เขาเทียบแล้วว่า แรงงาน 1 คน มูลค่าผลผลิตที่ทำได้เป็นเท่าไร ถ้าจ่าย 600 ผลผลิตที่ทำได้ 400 เขาวิ่งไปประเทศที่จ่าย 350 แล้วฝีมือพอกันย่อมดีกว่า
"นี่คือเหตุผลของการย้ายฐาน ไม่ใช่ว่าค่าแรงเราสูงแล้วเขาจะย้ายฐาน ถ้าค่าแรงสูงแล้วสามารถส่งมอบผลผลิตได้ตามมูลค่าที่เขาพึงได้เขาก็อยู่"
ศุภชัยสรุปว่า ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่จ่ายสำหรับแรงงานแรกเข้านั้นเป็นการจ่ายให้กับแรงงานต่างด้าวเสียเยอะโดยสัดส่วน เพราะสำหรับคนไทยที่มีฝีมือ ค่าจ้างได้เกินอยู่แล้ว
"ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนประกาศนโยบายก็ต้องให้ชัดว่า"ค่าจ้าง" "ค่าแรง" หรือ "ค่าจ้างข้้นต่ำ" เพราะถ้าค่าจ้างเฉลี่ยจริงๆ นโยบายอาจไม่ได้หวือหวามาก แต่ถ้าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำใช้กับแรงงานแรกเข้า ผลกระทบเบื้องต้นจะมีลักษณะนี้"
"อีกคำถามที่สำคัญคือ เราขึ้นทั้งหมดทั้งที่มีความแตกต่างกันทั้งสภาพของอุตสาหกรรม สภาพของพื้นที่ บางอุตสาหกรรมจ่ายได้อยู่แล้ว บางอุตสาหกรรมไม่ได้ ถ้าเป็นนโยบายที่ไม่มีอย่างอื่นรองรับ จะทำให้โครงสร้างค่าจ้างค่าตอบแทนผิดเพี้ยนไปในเชิงวิชาการ"
"ฉะนั้น สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือโครงสร้างค่าตอบแทนที่เหมาะสม สถานประกอบการอาจบอกว่าสตาร์ที่ 600 ไม่ว่ากัน แต่เมื่อเขาทำงานไประดับหนึ่งแล้วคุณต้องปรับค่าจ้างให้เขาตามฝีมือเขา และต้องมีโอกาสให้แรงงานไปพัฒนาฝีมือ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ควรจะเป็น สิ่งที่รัฐพึงกระทำคือ ทำอย่างไรให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาฝีมือ ไม่ใช่ขึ้นกับนายจ้างอย่างเดียว เรื่องอัพสกิล รีสกิล น่าจะต้องมาคุยกัน นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น"
ศุภชัยระบุว่า ประเด็นที่เป็นห่วงก็คือ timing ในการประกาศมากกว่า เพราะปกติช่วงเวลาของการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำจะประกาศใกล้ปลายปี เพื่อให้เกิดการเตรียมการของฝั่งนายจ้าง เช่น ทำบัญชีลูกจ้างใหม่ ทำงบการเงิน ทำระบบต่างๆ
"ถ้าประกาศในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่นประกาศในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นักลงทุนอยากเข้ามาเขาก็ต้องคิดใหม่ว่าระยะยาวจะเข้ามาไหม คุ้มไหมกับการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด เราไม่ได้กังวลเรื่องนักลงทุนย้ายฐานเพราะเขาย้ายฐานอยู่ตลอด เขาไปตามที่กำไรเขาสูง ซึ่งปัจจัยค่าจ้างเป็นตัวหนึ่งของการเปรียบเทียบ แต่นอกเหนือจากปัจจัยค่าจ้าง ตัวหนึ่งที่เขาใช้คือ ฝีมือของแรงงาน ถ้าฝีมือแรงงานสูงเหมาะสมกับธุรกิจของเขา จ่ายแพงเท่าไรเขาก็มา"
"ช่วงเวลาในการประกาศจึงสำคัญ แต่มันเป็นช่วงเลือกตั้งก็เข้าใจ ทุกพรรคก็คงแข่งกัน แต่ว่าโดยหลักวิชาการแล้ว ถ้าประกาศอะไรในแง่ที่เป็นระยะยาวของเชิงเศรษฐกิจ ก็จะเกิดผลของการตัดสินใจแบบอิหลักอิเหลื่อ นึกถึงช่วงโควิด ทุกคนไม่ใช้ตังค์ ไม่มั่นใจ ไม่รู้จักเรื่องนี้ ไม่รู้จะเกิดอะไร ฉะนั้นเราชะลอการใช้เงินจนกว่าจะมั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้น การประกาศอย่างนี้ สิ่งที่เกิดคือสถานประกอบการอาจต้องคิดใหม่อีกรอบ"
“ทุกเซ็กเตอร์ค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมด การลงทุนต่างกันแต่ต้องจ้างแรงงานในราคาเดียวกันก็เป็นปัจจัยเสี่ยง และไม่ได้การันตีว่าจะได้ผลผลิตจากแรงงานภาคเกษตรสูงกว่าแรงงานภาคอุตสาหกรรม”
“ถ้าไม่ใช้กลไกตลาด แล้ว fix แบบนี้ มันเป็นความสุ่มเสี่ยง ถ้าทำให้เศรษฐกิจโตได้ เรื่องนี้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญคือ ต้องทำให้ทุกเซ็กเตอร์โตไปพร้อมกันและโตทุกพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย” ศุภชัยสรุป
ฟังคำอธิบายภาพรวมของ ผศ.ดร.ศุภชัยแล้ว ดูเหมือนคำตอบต่อความกังวลจะมีอยู่แล้วในข้อกังวลนั้นเอง หากพรรคการเมืองมีสเถียรภาพและมีความสามารถมากพอในการบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตในภาพรวม ผลกระทบต่างๆ ของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะไม่แผงฤทธิ์หรือสร้างผลกระทบน้อย ดังนั้น ประชาชนจึงต้องเพ่งตามองไปที่นโยบายอื่นๆ ให้มากขึ้นว่าพรรคไหนมีรายละเอียดจับต้องได้ และดูมีความสามารถทำให้เป็นไปได้ เช่น
ฯลฯ