ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อ ผบ.ทบ.ของไทย แนะนำให้ผู้เสนอนโยบายตัดงบกองทัพไปฟังเพลง 'หนักแผ่นดิน' ทำให้มีกระแสต่อต้านตีคู่มากับเสียงสนับสนุน เพราะในอดีตเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เพลงนี้ถูกเปิดผ่านสถานีวิทยุกองทัพบก จนนำไปสู่การสังหารหมู่ประชาชนเมื่อ 6 ต.ค. 2519

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.คนที่ 41 ของไทย) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ซึ่งกล่าวพาดพิงกรณีพรรคการเมืองเสนอให้ตัดงบกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร โดยระบุว่า "ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน" และผู้ที่มีแนวคิดชาตินิยมออกมาโพสต์ข้อความสนับสนุนเพลงดังกล่าว ทำให้แฮชแท็ก #หนักแผ่นดิน กลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ โดยช่วงเช้าวันนี้ (18 ก.พ. 2562) กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอันดับ 1 อยู่ระยะหนึ่ง 

ทางด้านประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ทวิตข้อความส่วนตัว ระบุว่า เพลงนี้ "เป็นเพลงที่ขบวนการฝ่ายขวาใช้ปลุกระดมความเกลียดชังต่อนักศึกษา และประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมหลัง 14 ต.ค. การปลุกระดมทำผ่านวิทยุของหน่วยความมั่นคง กองทัพและสื่อฝ่ายขวา จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมสังหารหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519"

ขณะที่เว็บไซต์ 'บันทึก 6 ตุลา' ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 2519 บอกเล่าย้อนหลังว่าไปถึงเหตุการณ์สืบเนื่องกัน นั่นคือกรณีที่นักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร จนนำไปสู่การใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุม ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 ทำให้ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายอีกจำนวนมาก 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งและหนีออกนอกประเทศชั่วคราว แต่หลังจากนั้นได้มีการปราบปรามประชาชนเกิดขึ้นตามมา ทั้งช่วง พ.ศ. 2517-2518 ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการนักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้อำนาจรัฐ จึงเป็นเหตุให้มี "ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อ" เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ "บันทึก 6 ตุลา" ยกตัวอย่าง "ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อ" ได้แก่ การกล่าวหาว่านักศึกษาก่อความวุ่นวายในสังคม ขบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้นำนักศึกษาเป็นญวน รับเงินจากต่างประเทศ ไปฝึกอาวุธที่ฮานอย และโจมตีการชุมนุมประท้วงและการเคลื่อนไหวของฝ่ายนักศึกษาว่า เป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาปลุกกระแสชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และกล่าวหาว่านักศึกษาจะเป็นผู้บ่อนทำลายสถาบันเหล่านี้ โดยมีการแต่งเพลงที่แสดงถึงนัยในการต่อต้านขบวนการนักศึกษา เช่นเพลง รกแผ่นดิน เพลง ถามคนไทย แต่ที่โด่งดังและโจมตีขบวนการนักศึกษามากที่สุดได้แก่เพลง “หนักแผ่นดิน” ซึ่งแต่งใน พ.ศ.2518 โดย พ.ต.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และร้องโดย สันติ ลุนเผ่"

AFP-เหตุการณ์เดือนตุลาคม-จดหมายเหตุเดือนตุลาฯ-บันทึกเดือนตุลา.jpg
  • สื่อไทยในอดีตรายงานการปราบปรามประชาชนช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

"การโจมตีขบวนการนักศึกษาโดยพยายามโยงเข้ากับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังมีขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น กรณีหนังสือพิมพ์ สยามิศร์ รายวัน โดยนายประหยัด ศ.นาคะนาท ได้พาดหัวข่าวโจมตีการจัดงานฟุตบอลประเพณีของจุฬา-ธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ.2519 ว่า มีการบรรเลงเพลงปลุกเร้าให้คนล้มกษัตริย์ เพลงที่ถูกหยิบมาใส่ร้ายครั้งนี้คือ เพลงมาร์ช มธก. ซึ่งเอาทำนองเพลงมาซาแยซ ของฝรั่งเศสมาใช้ ฝ่ายนักศึกษาได้ก่อการประท้วงโดยการไปวางหรีดหน้าสำนักพิมพ์ และได้ชี้แจงให้ทราบว่า เพลงนี้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยมานานแล้ว และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย"

ทั้งนี้ เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นกรณีนองเลือดครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจาก"เจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว"

"ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย"

อาจกล่าวได้ว่า เพลงหนักแผ่นดิน ถูกแต่งขึ้นโดยทหาร และเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุของทหาร (กองทัพบก) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพลงนี้จะถูกปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึกของเหล่าทหารไทย และ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันยังแนะนำให้คนไทยฟังเพลงนี้ แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 42 ปีหลังเหตุการณ์นองเลือดที่ 'คนไทยถูกคนไทยด้วยกันฆ่า'

ส่วนกระแสตอบรับเพลงหนักแผ่นดินในทวิตเตอร์ของไทยก็เป็นไปอย่างค่อนข้างดุเดือด เพราะความเห็นของคนรุ่นใหม่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อฟื้นเพลงปลุกใจที่ประณามกลุ่มคนเห็นต่างจากฝ่ายกองทัพและฝ่ายชาตินิยมว่า "เป็นอื่น" และ "ไม่รักชาติ" ขณะที่อีกหลายคนยังได้กล่าวพาดพิงไปถึงการก่อรัฐประหารซึ่งนำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ บิดาของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ โดยการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการล้มล้างรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.

ทวิตเตอร์หนักแผ่นดิน1.JPGหนักแผ่นดิน04.JPGหนักแผ่นดิน5.JPG
  • ความเห็นจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทย มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านการปลุกกระแส #หนักแผ่นดิน

เหตุผลบางส่วนที่ใช้ประกอบการรัฐประหารเมื่อปี 2534 ได้แก่ พฤติการณ์ 'ฉ้อราษฎร์บังหลวง' ของคณะผู้บริหารประเทศ, ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง, รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา และการทำลายสถาบันทางทหาร รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารเมื่อปี 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ' เมื่อวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง เนืรองจากเป็นการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. ที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

การชุมนุมดังกล่าวนำไปสู่การออกคำสั่งปราบปรามและเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 รายที่สามารถระบุตัวตนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: