สถาบันเศรษฐกิจและสันติภาพ (IEP) เผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก (GPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ.2563) เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อ้างอิงการสำรวจสถานการณ์ใน 163 ประเทศและรัฐทั่วโลก พบว่า 81 ประเทศมีคะแนนสันติภาพเพิ่มขึ้น แต่อีก 80 ประเทศมีคะแนนลดลง
เนื้อหาในรายงานสรุปดัชนีสันติภาพโลกระบุด้วยว่า 96 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกเจอกับเหตุการณ์ไม่สงบและการจลาจลที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงตลอดปี 2562 และต้นปี 2563 ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ภาพรวมคะแนนสันติภาพทั่วโลกจะลดลงอย่างมาก
ส่วนการประเมินคะแนนของแต่ละประเทศต่างๆ ในดัชนีสันติภาพโลก พิจารณาจากเกณฑ์หลัก 3 ประการ คือ ความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม ความขัดแย้งที่ยังไม่ยุติ และการเติบโตของกองทัพ พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มประเทศตามคะแนนที่ได้รับ โดยเรียงจากคะแนนสูงมาก สูง ปานกลาง ต่ำ ต่ำมาก และไม่ติดกลุ่มใด
10 ประเทศที่มีคะแนนสันติภาพสูงสุดจากการประเมินของผู้จัดทำดัชนีสันติภาพโลก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ออสเตรีย เดนมาร์ก แคนาดา สิงคโปร์ สาธารณรัฐเชก ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ 'อัฟกานิสถาน' เป็นประเทศที่มีคะแนนสันติภาพน้อยที่สุด
ส่วน 'ไทย' ติดอันดับ 114 ตกลงมา 1 อันดับจากปีที่แล้ว และอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสันติภาพปานกลาง เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ยกเว้น 'สิงคโปร์' ที่อยู่ในกลุ่มประเทศสันติภาพสูง และ 'เมียนมา' ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศสันติภาพต่ำ
ผู้จัดทำดัชนีดังกล่าวระะบุว่า สันติภาพมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยกล่าวว่า 'สันติภาพเชิงบวก' หมายถึง ทัศนคติ สถาบัน และโครงสร้างที่ก่อเกิดและบำรุงรักษาความสงบสุขภายในสังคม แต่ 'สันติภาพเชิงลบ' จะทำให้เกิดความสงบที่มาจากการเงียบหรือภาวะปราศจากความรุนแรงเพราะสังคมหวาดกลัว ด้วยเหตุนี้ แม้หลายประเทศจะไม่มีสงครามกลางเมืองหรือเกิดความขัดแย้งนองเลือด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีคะแนนสันติภาพสูง
ขณะที่เว็บไซต์ Common Dreams สื่อทางเลือกของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สหรัฐฯ ได้คะแนนดัชนีสันติภาพน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทั้งยังมีคะแนนรวมต่ำกว่าจีน เป็นเพราะสหรัฐฯ เผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และลุกลามไปถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ กลายเป็นจลาจลรุนแรงในบางพื้นที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
รายงานของคอมมอนดรีมส์ระบุด้วยว่า ประเทศที่สนับสนุนการเติบโตของกองทัพหรือสถาบันทางการทหารมากกว่าการทุ่มเทงบประมาณสนับสนุนด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย หรือการศึกษา แบบที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทำ ย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่ไว้วางใจในรัฐ หรือไว้วางใจน้อยลง เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: