สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการตรวจสอบสารเสพติดที่เป็นส่วนประกอบของเคนมผงว่า ได้รับรายงานจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้เก็บตัวอย่าง จากการตรวจพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิต จากการเสพยาเสพติดเคนมผง พบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหลายชนิด ทั้งเฮโรอีน ยาเค ซูโดอีเฟดรีน และอื่นๆ จึงเกิดข้อสงสัยแท้จริงของสาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากตัวอย่างสารเสพติดที่แยกประเภทออกมา พบว่ามีการผสมตัวยานอนหลับไดอะซีแพม เป็นส่วนประกอบหลักและมีความเข้มข้นสูงถึง 90%
ตามรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พบว่าบริษัทที่นำเข้ายาไดอะซีแพม มี 5 บริษัท ที่ได้รับอนุญาต เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตยาในประเทศไม่ต่ำกว่า 25 แห่ง ป.ป.ส.จึงออกหนังสือเตือนไปยังโรงงานต่างๆ ให้ควบคุมการผลิตและการใช้งานให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ส่วนเรื่องข้อมูลเครือข่ายจำหน่ายยาเสพติดตัวนี้ ยอมรับว่า เนื่องจากเคนมผง มีสูตรผสมไม่ตายตัว จึงเชื่อว่าเป็นการผสมขึ้นมาเอง ทำให้ควบคุมได้ยากกว่าการไล่ติดตามจับกุมคดียาเสพติดทั่วไป และเนื่องจากการผสมไม่ตายตัว ผู้ที่เสพจึงเปรียบเสมือนหนูทดลอง ที่ขึ้นอยู่กับผู้ค้ายาว่าจะผสมในอัตราส่วนเท่าไร จึงต้องฝากเตือนไปยังผู้ซื้อเพื่อนำไปเสพว่า ยาเสพติดดังกล่าวเป็นอันตรายที่อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับตัวยาไดอะซีแพมบริสุทธิ์ พบว่ามีต้นทุนตัวยาต่ำกว่าสารซูโดอีเฟดรีน โดยราคาขายของไดอาซีแพมอยู่ที่กิโลกรัมละ 16,000 บาท จึงถูกนำไปใช้ในการผลิตยานอนหลับ หรือยาเพื่อใช้ในการรักษาอาการจิตปราสาท โดยมีฤทธิ์ในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลงได้
ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคดีเคนมผง ว่า คดีนี้ทุกหน่วยงานทำงานประสานกันหมด ทางโซเชียลเป็นช่องทางในการค้า ทำให้กระจายตัวไปทั่วประเทศ ได้มอบบช.สอท. ซึ่งเป็นหน่วยใหม่ที่ตั้งขึ้นมา
โดยก่อนหน้านี้สอท.ได้มีการแถลงผลการปฏิบัติเบื้องต้นไปแล้ว ส่วนรายละเอียดที่กำลังสืบสวนอยู่ในขณะนี้คงยังไม่มีการแถลงจนกว่าจะจับกุมใคร ส่วนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และตำรวจท้องที่ก็ได้ดำเนินการอยู่ หวังว่าจะมีความคืบหน้าผลในการจับกุมมากขึ้นเร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :