ไม่พบผลการค้นหา
สินเชื่อรวมธนาคารพาณิชย์ โตลดลง อยู่ที่ร้อยละ 4.2 แบงก์ชาติชี้เพราะเศรษฐกิจซบเซา

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 2/2562 ลดลงจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 โดยมีเหตุผลหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง

'ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์' ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สินเชื่อธุรกิจในภาพรวม ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 

โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) เติบโตในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 4.4 จากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ขณะที่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.5 

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคในไตรมาสที่ 2 นี้ เติบโตลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 10.1 ในไตรมาส 1/2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ในไตรมาสที่ 2 

หากไปดูรายสินเชื่อ จะพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์มีการเติบโตที่ลดลง ซึ่ง 'ธาริฑธิ์' อธิบายว่า สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นผลมาจาก การเร่งปล่อยสินเชื่อก่อนที่จะมีมาตรการ LTV ออกมา ขณะเดียวกันยอดความต้องการซื้อลดยนต์ก็เริ่มชะลอตัวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 นี้ ฝั่งของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเติบโตสูงขึ้น ในอัตราร้อยละ 9.7 และ 11.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน

'ธาริฑธิ์' ชี้ว่า เมื่อไปดูที่คุณภาพของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมยังถือว่าอยุ่ในเกณฑ์ที่ดี โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.95 คิดเป็นมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนราว 3.3 พันล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ เริ่มมีความระมัดระวังเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการตรวจตามหนี้สินมากขึ้น จึงส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) หรือการผิดนัดชำระเกิน 1 เดือน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.56 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.74 ในไตรมาสนี้