ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนปักหลักหน้ายูเอ็น ค้านร่าง กฏหมายทำลายการรวมกลุ่ม ชี้รัฐบาลจ้องลิดรอนอาวุธเดียวที่ประชาชนมี ร้องสหประชาชาติ กดดัน 'ประยุทธ์' ยุตินำร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุม ครม. ฝ่าแนวกั้นตำรวจ หวิดชุลมุน

วันที่ 23 พ.ค. 2565 ที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เขตพระนคร เครือข่ายภาคประชาชนในนาม 'ขบวนการต่อต้านร่างกฏหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน' เพื่อแสดงออกคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. … หรือ 'ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม' ที่มองว่าตั้งใจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ก่อนหน้านี้ขบวนการฯ เคยยื่นหนังสือเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอให้มีคำสั่งยุติการผ่านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ โดยร่างกฏหมายดังกล่าวยังเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย ขบวนการฯ จึงได้กลับมาชุมนุมอีกครั้งในวันนี้ 

โดยระหว่างนั้นเกือบเกิดเหตุชุลมุน เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามใช้รถขยายเสียง และกำลังผลักดันแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปสู่พื้นถนน จนถึงป้อมจราจร สน.นางเลิ้ง แยกมัฆวาน และจัดตั้งหมู่บ้านพร้อมเวทีปราศรัยที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ และตั้งเป้าว่าจะชุมนุมอย่างยืดเยื้อหลายวันจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการสนองตอบ

ขบวนการต่อต้านร่างกฏหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน.jpg

ตัวแทนขบวนการฯ ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในเมื่อการประชุมของ UNESCAP ที่จะมีขึ้น อยู่ภายใต้แนวคิดหลักว่า “วาระสามัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียและแปซิฟิก” และในโอกาสที่จะมีการอภิปรายและวางแผนความร่วมมือระดับภูมิภาคในอนาคต เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะบรรลุซึ่งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ในบริบทที่ภาคประชาสังคมและประชาชนถูกกดขี่โดยรัฐบาล

"เราต่อต้านการประกาศใช้กฎหมายในขณะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน เราจึงเรียกร้องในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ UNESCAP สนับสนุนการรณรงค์กดดันของเราเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน และนำไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" จดหมายเปิดผนึกตอนหนึ่ง ระบุ

ขบวนการต่อต้านร่างกฏหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน.jpg

จากนั้น เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ในฐานะตัวแทนขบวนการฯ กล่าวว่า หากผลการชุมนุมครั้งนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่มีตัวแทนจากทางรัฐบาลมารับทราบข้อเรียกร้อง ในวันพรุ่งนี้ ขบวนการฯ จะยกระดับการเรียกร้องไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนในวันนี้จะเน้นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และการเสวนาซึ่งจะมีขึ้นจนถึงช่วงเย็น

สำหรับผู้ร่วมการชุมนุมนั้น ประกอบไปด้วยเครือข่ายภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอ รวมถึงประชาชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 100 คน และภาคใต้ 

โดย มณีนุช หทัยเรือง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู กล่าวกับ 'วอยซ์' ถึงสาเหตุที่มาร่วมการชุมนุมว่า ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้พยายามต่อสู้คัดค้านการสร้างเหมืองหินดงมะไฟ มานานกว่า 28 ปี และถูกเบียดเบียนโดยกลุ่มทุน จนชาวบ้านต้องเสียชีวิตไปถึง 4 คน จนในที่สุดก็สามารถยุติการทำเหมืองได้ ด้วยการรวมกลุ่มของประชาชน การรวมกลุ่มจึงถือเป็นอาวุธเดียวที่ประชาชนจะใช้ต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า

ขบวนการต่อต้านร่างกฏหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน4.jpg

"การรวมกลุ่มเป็นอาวุธเดียวที่เรามี การที่เรามารวมกลุ่มกันจนแข็งแกร่ง และสามารถเอาชนะความอยุติธรรมของประเทศนี้ได้ เรามีแค่นี้ มีแค่สองมือสองเท้า แล้วภาครัฐจะมาลิดรอนสิทธิของเราไป มาบอกให้เรายุติการรวมกลุ่ม หยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งเราทำเพื่อทรัพยากรของประเทศนี้ เราทำเพื่อชีวิตของชาวบ้านทุกคน" มณีนุช กล่าว

ด้าน พชร คำชำนาญ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ มองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เพียงกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชย์ขององค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่จะรวมถึงแนวร่วมการชุมนุมต่างๆ ด้วย เพราะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรภาคประชาสังคม เช่น ต้องไม่ทำลายความมั่นคง ความสงบสุขของประเทศและสังคม ซึ่งเป็นการกำหนดไว้กว้างๆ ทำให้เกิดการตีความได้หลายแบบ

LINE_ALBUM_220523_21.jpg