ไม่พบผลการค้นหา
รับทราบผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (Mondiacult 2022) ไทยชูโครงการ 5F สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริม Soft Power และเดินหน้าระบุสิทธิทางวัฒนธรรมในนโยบายสาธารณะ

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดพเนินงานตามปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุมฯ เพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจที่รับผิดชอบและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

ทิพานัน กล่าวว่า ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (Mondiacult 2022) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อ “อนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ทรัพย์สินทางปัญญา

และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม พร้อมกับผลักดันโครงการ 5F คือ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลและประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เพื่อเป็น Soft Power ของไทย

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. ไทยได้ดำเนินการตามแนวคิด “เศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ สร้างรายได้ เสริมคุณค่า พัฒนาสังคม” เพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม และเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย และการดำเนินโครงการ 5F ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) รวมถึงการส่งเสริม Soft Power ของไทย

2. ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุมฯซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น 1.สิทธิทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาให้มีการระบุไว้ในนโยบายสาธารณะ เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของศิลปิน และสิทธิเสรีภาพทางศิลปะ และ 2.การกำหนดให้มีการประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมขึ้นทุก 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2568

“ครม. พิจารณาเห็นว่าผลการประชุมฯ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเตรียมการเข้าร่วมการประชุมเวทีระดับโลกฯ ในปี 2568 จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทางานร่วมกันต่อไป” ทิพานัน กล่าว


ครม.เห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกคุมเข้ม2ปี

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว

นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

2. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณร้อยละ 100 ของความสามารถในการผลิตจริง, ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนาเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น

3. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นจึงเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการมาตรการควบคุมในช่วง 2 ปี (ในช่วงปี 2566-2567) คือ มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ควบคุมปริมาณนำเข้าให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ 2.ป้องกันการลักลอบนำเข้า และ 3.ควบคุมการประกอบกิจการพลาสติกไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับทุกฝ่ายจึงให้มีมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การป้องกันการขาดแคลนเศษพลาสติกบางชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม 2.การคัดแยกขยะที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 3.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ และ 4.การมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ” ทิพานัน กล่าว


ครม.เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบการรับรองวัดคาทอลิก จำนวน 33 แห่ง ใน 18 จังหวัด ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยแนวทางพิจารณาในการจัดตั้งวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก พ.ศ. 2564 ซึ่งทั้งหมดเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฯ จะมีผลบังคับ และต้องรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากวันบังคับ(ภายใน 15 มิ.ย. 66) ซึ่งเมื่อรวมกับการอนุมัติครั้งนี้แล้วจะมีวัดที่มีอยู่ก่อนระเบียบฯ มีผลบังคับได้รับการรับรองแล้วรวม 76 แห่ง และยังเหลือการรับรองอีก 276 แห่ง

ทั้งนี้ ก่อนเสนอต่อ ครม. วัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอจัดตั้งวัดคาทอลิก เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 1)ได้รับความเห็นชอบให้ยื่นคำขอรับรองวัดคาทอลิกจากสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย 2)มีข้อมูลที่ตั้งวัด 3)มีข้อมูลที่ดินที่ตั้งวัดและการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 4)มีรายชื่อบาทหลวงซึ่งจะไปประกอบศาสนกิจประจำ ณ วัดคาทอลิก และ 5)มีข้อมูลอื่นที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองวัดคาทอลิก เช่น คุณค่าและประโยชน์ของวัดคาทอลิก การอุปถัมภ์และทำนุบำรุงภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วได้ให้ความเห็นชอบและไม่ขัดข้องในหลักการในการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 33 แห่ง โดยมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินว่า วัดทั้ง 33 แห่งไม่มีการตั้งบนที่ราชพัสดุ แต่หามีกรณีมิซซังได้เข้าไปใช้ที่ราชพัสดุจะต้องดำเนินการขออนุญาตเข้าไปใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ หากมีการเข้าไปตั้งวัดในเขตพื้นที่ป่าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม มีวัด 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นที่ตั้งในโรงเรียนในระบบสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยกระทรวงศึกษาไม่ขัดข้องต่อการรับรองวัดคาทอลิกทั้ง 9 แห่ง แต่การรับรองวัดต้องไม่กระทบต่อการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้นจึง เห็นควรให้มีรั้วแสดงขอบเขตของวัดคาทอลิกและโรงเรียนออกจากกันอย่างชัดเจน และขนาดที่ดินของโรงเรียนที่เหลืออยู่จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง พร้อมให้โรงเรียนดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้งและการขอเปลี่ยนแปลงขนาดที่ดินที่ใช้ตั้งโรงเรียนต่อไป

ไตรศุลี กล่าวว่า วัดคาทอลิก ทั้ง 33 แห่ง ใน 18 จังหวัดที่ได้รับการรองมีดังนี้ 1)จันทบุรี 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร(ท่าแฉลบ),วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(ท่าศาลา), วัดพระคริสตราชา(ปะตง), วัดนักบุญยอห์น อัครธรรมทูต(มะขาม)และวัดพระแม่พระถวายองค์(มูซู) 2)นครนายก 4 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดาพระศาสนจักร(นครนายก), วัดพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล(เตยใหญ่), วัดนักบุญเปาโล(บ้านนา), วัดนักบุญยอแซฟ(หนองรี)

3)ฉะเชิงเทรา 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดเซนต์แอนโทนี(แปดริ้ว), วัดแม่พระฟาติมา(บางวัว), วัดนักบุญอันนา(สระไม้แดง) 4)สระแก้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์(สระแก้ว) วัดนักบุญเบเนดิกต์(เขาฉกรรจ์), วัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ(อรัญประเทศ)

5)กรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์(คลองจั่น) และ วัดนักบุญยูดาอัครสาวก(ชินเขต) 6)ปราจีนบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระที่พึ่งแห่งปวงชน(แหลมโขด), วัดราชินีสายประคำศักดิ์สิทธิ์(บ้านสร้าง) 7)เพชรบูรณ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดนักบุญยอแซฟ(ห้วยใหญ่), วัดอัครเทวดากาเบรียล(สันติสุข) 8)ราชบุรี 2 แห่ง ประกอบด้วย วัดแม่พระสายประคำ(หลักห้า), วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(โพธาราม)

8) ปทุมธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมาร์โก(ปทุมธานี) 9)พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเทเรซา(หน้าโคก) 10)สุพรรบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญบาร์โธโลมิว อัครสาวก(ดอนตาล) 11)นครปฐม 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญมัทธิว(ทุ่งลูกนก) 13)ชลบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดแม่พระลูกประคำ(สัตหีบ) 14)ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปาโลกลับใจ(ปากน้ำ ระยอง) 15)ตราด 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตราด) 16)นครสวรรค์ 1 แห่ง ได้แก่ วัดพระแม่รับสาร(ตาคลี) 17)ลพบุรี 1 แห่ง ได้แก่ วัดมาแตร์ เดอี อัสซุมตา(ลำนารายณ์) 18)อุทัยธานี 1 แห่ง ได้แก่ วัดนักบุญเปโตร(ท่าซุง)