ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยใหม่ยืนยันว่า มียีนกลายพันธุ์ที่ทำให้บางคนรู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจอาหารเท่าคนอื่น ไม่ใช่เพราะมีความมุ่งมั่นตั้งใจควบคุมอาหารมากกว่าคนอื่น

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์สของสหรัฐฯ รายงานว่า งานวิจัยใหม่ 2 ชิ้นยืนยันว่า การควบคุมน้ำหนักเป็นผลมาจากพันธุกรรม ไม่ได้มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า คนที่ผอมมาตลอดชีวิตไม่ได้มีเมตาบอลิซึมที่แตกต่างไป แต่พวกเขาไม่มีความสนใจอาหารเท่ากับคนอื่นจึงไม่ค่อยได้กินอาหารมื้อใหญ่ๆ ไม่หมกมุ่นว่าจะกินอะไรในมื้อต่อไป คนที่ตั้งใจควบคุมอาหารและควบคุมน้ำหนักจึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่ผอมโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ล่าสุด งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในนิตยสารทางวิชาการ Cell ได้ศึกษาข้อมูลคนที่มีอายุ 40 - 69 ปีจำนวนประมาณ 500,000 คน จาก U.K. Biobank โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยได้อนุญาตให้นักวิจัยเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และประวัติทางการแพทย์ รวมถึงให้ติดตามตรวจสุขภาพเป็นเวลากว่า 20 ปี และพบว่าคนที่ผอมมาตลอดชีวิตมียีนที่ไปทำให้คนนั้นไม่มีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังลดความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานและโรคหัวใจอีกด้วย

ด็อกเตอร์ซาดาฟ ฟารูกี อาจารย์ด้านเมตาบอลิซึมและแพทยศาสตร์กับนิค แวแรม นักระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยได้วิจัยเกี่ยวกับยีน MC4R เพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไมบางคนจึงมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และพบว่า ยีน MC4R มีส่วนกำหนดว่าใครจะผอมหรืออ้วน

คนที่ยีน MC4R กลายพันธุ์จะมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากกว่า โดยพบว่ามีคนที่มียีน MC4R กลายพันธุ์มากถึง 300 คนจาก 500,000 คน ถือเป็นยีนที่ทำให้เกิดโรคอ้วนที่พบเห็นได้ง่ายที่สุด และพบว่าร้อยละ 6 ของเด็กที่มียีนกลายพันธุ์นี้เป็นโรคอ้วนขั้นรุนแรง

โดยปกติแล้ว เมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้ว ยีน MC4R จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปบอกร่างกายว่ารู้สึกอิ่มแล้ว จากนั้นยีนนี้ก็จะหยุดทำงาน แต่หากยีนนี้กลายพันธุ์ มันก็จะไม่ทำงานส่งสัญญาณนี้ ทำให้บางคนไม่รู้สึกอิ่ม รู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา และมักจะส่งผลให้พวกเขามีน้ำหนักเกิน เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจสูงกว่าคนอื่นร้อยละ 50

ในทางกลับกัน บางคนก็มีการกลายพันธุ์ในยีน MC4R อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทำให้ยีนนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้พวกเขารู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักวิจัยพบว่ามีคนร้อยละ 6 จากประชากรทั้งหมดที่การกลายพันธุ์ประเภทนี้

ดังนั้น ด็อกเตอร์ฟารูกีได้สรุปว่า ยีน MC4R มีความสำคัญกับการควบคุมน้ำหนักอย่างมาก และน่าจะเปิดทางให้นักวิจัยต่างๆ มุ่งเป้าไปพัฒนายาที่จะป้องกันโรคอ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกงานวิจัยหนึ่งของด็อกเตอร์ อมิต วี คีรา แพทย์โรคหัวใจจากโรงพยาบาลแมสซาชูเสตส์ เจเนรัลและทีมวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารเดียวกันก็ใช้ข้อมูลจากประชากรกลุ่มเดียวกันนี้ในการพัฒนาคะแนนความเสี่ยงทางพันธุกรรมในการเป็นโรคอ้วน โดยคะแนนความเสี่ยงทางพันธุกรรมสามารถทำให้คาดเดาได้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าใครจะมีความเสี่ยงสูงว่าจะเป็นโรคอ้วน สามารถคาดได้ว่าใครอาจอ้วนไปตลอดชีวิต ใครจะต้องพยายามควบคุมน้ำหนักมากกว่าคนอื่น และใครจะผอมไปตลอดชีวิต

นักวิจัยได้พัฒนาคะแนนความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนจากการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอกว่า 2 ล้านแห่งในจีโนม คนที่มีคะแนนสูงจะมีน้ำหนักสูงกว่าคนที่มีคะแนนน้อยประมาณ 13 กิโลกรัม โดยในกลุ่มคนที่อ้วนมากมีถึงร้อยละ 60 ที่มีคะแนนความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูง

นักวิจัยยังลองศึกษาข้อมูลพันธุกรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วม 300,000 คน และพบว่า ทารกที่เกิดมาจะมีน้ำหนักไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะมีคะแนนความเสี่ยงโรคอ้วนทางพันธุกรรม แต่เมื่อถึงอายุ 3 ปีครึ่ง เด็กที่มีคะแนนสูงจะน้ำหนักมากกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่ออายุ 8 ปีก็มักจะเป็นโรคอ้วน เมื่อถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลายก็มักมีน้ำหนักเฉลี่ยมากกว่าคนที่มีคะแนนต่ำประมาณ 13 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า แม้บางคนจะมีคะแนนความเสี่ยงสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคอ้วนเสมอไป แต่หมายความว่า คนที่มีคะแนนสูงอาจควบคุมน้ำหนักได้ยากกว่าคนอื่น


ที่มา : The New York Times