วันที่ 2 มิ.ย. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในการแถลงข่าว ญาติวีรชน 35 และภาคประชาชน เตรียมยื่นคำร้องต่อ ปปช.ให้ถอดถอนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับพวก ครม. กรณี 'จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ' เป็นการ "ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง" ในการออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ สี่มาตราออกไปโดยไม่มีอำนาจทำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
ซัดรัฐบาล 'ประยุทธ์' เหลิงอำนาจ
โดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และญาติผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภา 35 กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการญาติฯ มีความเห็นว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ถือว่ามีประโยชน์ วีรชนผู้สูญหายที่มีจำนวนมากกว่าที่รัฐบาลกล่าวไว้ ซึ่งเราได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้รับความเพิกเฉย และไม่ได้ข้อยุติในนามรัฐบาล
สิ่งสำคัญคือ ความเสียหายของประชาชนซึ่งตวรๆด้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่รัฐบาลไม่ส่งเสริม แต่กลับขัดขวาง แม้ไม่หลายเดือน แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว คณะกรรมการญาติฯ ได้เรียกร้องไปเมื่อ 24 พ.ค. ให้รัฐบาลรับผิดชอบ ร่วมกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ รมว.มหาดไทย โดยเฉพาะ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ที่เป็นผู้เสนอให้มี พ.ร.ก.
"วิษณุ เครืองาม อธิบายความแบบนักกฎหมาย ต้องยอมรับว่าท่านเก่งกาจหาคนจับยาก ผมไม่เชื่อว่านักกฎหมายที่เก่งแบบนี้ จะขาดไร้ซึ่งจริยธรรม คำอธิบายนั้นเห็นชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่แย่มาก ตรรกะวิบัติ เป็นผู้ไม่เคยรับผิดชอบ และไม่ได้ทำครั้งเดียว เหลิงแก่อำนาจตลอดเวลา"
คณะกรรมการญาติฯ เรียกร้องสำนึกความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง อาจไม่จำเป็นต้องลาออกทั้งคณะ เพียงรับผิดชอบส่วนบุคคล เพราะเราเข้าใจว่าประเทศชาติต้องมีคนดูแลรักษาการ คือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เราพยายามคิดทุกด้านไม่ให้ประเทศเสียหาย แต่ด้วยตรรกะวิบัติ เราต้องทำทุกทางเพื่อผู้มีอำนาจไม่ทำแบบนี้กับคนไทยอีกต่อไป กฎหมายนี้มีประโยชน์ชัดเจน และกว่าจะได้มาต้องต่อสู้เป็นเวลานับสิบปี
อดุลย์ ยังเผยว่า ตนได้ปรึกษากับ ปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซี่งชี้ว่า ทุกวิถีทางที่จะฟ้องได้ ก็ต้องทำ มีช่องทางจะฟ้องผ่าน ป.ป.ช. หรือแจ้งผ่านตำรวจไปถึงอัยการ แต่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถฟ้องไปที่ศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย ปริญญา จะรวบรวมนักกฎหมายเพื่อดำเนินการ และไม่เชื่อว่านักกฎหมายที่เก่ง แต่ขาดจริยธรรม จะสมควรได้รับการยกย่อง
สมคบคิดหลอกประชาชน
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ มีความสมบูรณ์ในสาระบัญญัติ เพิ่มเติมจากกฎหมายอาญา และในวิธีพิจารณาความในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้า และสมบูรณ์อย่างยิ่งฉบับหนึ่งซึ่งประเทศเคยมี
แต่ไม่น่าเชื่อ แค่ 2 วัน ก่อน 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายกำลังจะมีผล รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ใน 4 มาตราสำคัญ อ้างว่าอุปกรณ์ไม่พร้อม แต่ความจริงจะมีแผนล้มเลิกการใช้ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อการออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ต้องการให้มีเนื้อหาที่จะควบคุมตรวจจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ดังกล่าว ก็ไม่เข้าข่ายถึงเหตุผลที่ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉินอย่างยิ่ง
"เป็นเรื่องการหลอก หรือสมคบคิดกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เราไม่เคยคิดว่าเขาจะกล้าออก พ.ร.ก. ซึ่งต้องออกในบ้านเมืองที่มีภาวะสงคราม หรือมีเหตุจำเป็นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งกรณีนี้ไม่เข้าข่ายอย่างแน่นอน"
เมื่อ พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นโมฆะมาตั้งแต่แรก สร้างปัญหาย้อนหลังไปมากมาย อาจมีเหตุให้ยกไปเป็นข้อต่อสู้ทางคดี ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายทำผิดจงใจละเว้นฝ่าฝืนการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง ป.ป.ช. ย่อมดำเนินการได้เมื่อเห็นว่าเข้าข่ายความผิด ไม่จำเป็นต้องมีผู้ยื่นคำร้อง ตนจึงมองว่า ป.ป.ช.อาจไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้
"เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต้องไต่สวน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือส่งให้ศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ครม. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเชื่อว่าทำได้ทันก่อนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกตัวแปรของการเมืองไทย ช่องทางที่ทำได้ คือต้องกดดัน ป.ป.ช. ให้ทำหน้าที่ตามมาตรา 235" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
แนะควรลาออกรับผิดชอบ
พิภพ ธงไชย ประธานที่ปรึกษาญาติวีรชนฯ ชี้ว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า พ.ร.ก.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ปกติ นายกฯ ต้องลาออก แต่ประเทศไทยก็มักมีความไม่ปกติเป็นปกติ คณะกรรมการญาติฯ ไม่ได้ฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่เราเป็นผู้สูญเสียญาติในเหตุการณ์พฤษภา '35 ซึ่งมีบุคคลสูญหายมากกว่าที่กระทรวงมหาดไทยประกาศว่ามี 48 คน
"ผมเคยบอกคุณอดุลย์ว่า ผมมีหลักฐาน นายทหารที่ จ.กาญจนบุรี ขนคนจาก ถ.ราชดำเนิน ไปฝังกลบที่นั่น แต่เนื่องจากเป็นเขตทหาร จึงไม่มีใครกล้าขุดคุ้ยออกมา"
ดังนั้น เหตุที่คณะกรรมการญาติฯ จัดการแถลงข่าว จึงมีความชอบธรรมเพราะต่างก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เราดีใจที่ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการอุ้มหายได้ประกาศใช้ และกรณีที่ฝ่ายรัฐกระทำอุ้มหาย ซึ่งมีเพียง 2 หน่วยงานคือ ตำรวจ และ ทหาร แต่การออก พ.ร.ก.ชะลอบางมาตรา จึงถือว่าต้องรับผิดชอบ และต้องลาออก แต่มีการตีคารมโดยนักกฎหมายของรัฐบาล ว่าเวลานี้เป็นรักษาการ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบ
"จึงถามต่อไปว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลาออก และรัฐบาลตั้งไม่ได้เป็นปี พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องเป็นนายกฯ ไปอีกนาน แล้วความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน"
พิภพ ระบุว่า ปัญหาการอุ้มหายเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่สังคมไทย และนักการเมืองในรัฐบาลชุดใหม่ต้องตระหนักคือ ต้องทำให้ พ.ร.บ. นี้ถึงปฏิบัติได้จริง แต่นักการเมืองได้ละเลยรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง โดยกลไกกฎหมายไม่สามารถบังคับให้นักการเมืองออกไปได้ นอกจากแพ้โหวตในสภาฯ เท่านั้น ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แพ้การเลือกตั้ง แต่ยังอยากรักษาความเป็นประชาธิปไตย ก็ควรประกาศลาออกจากรักษาการนายกฯ
ออก พ.ร.ก. ผู้เสียหายถูกฆ่าซ้ำสอง
บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ระบุว่า พ.ร.ก. เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของญาติวีรชนเป็นอย่างมาก เพราะหลังเหตุการณ์ 24 พ.ค. 2535 รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เป็นเหตุให้ความผิดต่างๆที่เกิดขึ้นในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำการอันเป็นอาชญากรรมต่อประชาชน ไม่ต้องรับผิด
พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นเหตุให้ญาติผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลแพ่งและอาญา แต่เนื่องจาก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ศาลจึงยกฟ้อง นี่คือการฆ่าซ้ำสองกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในเวลานั้น ส.ส.ได้เสนอญัตติให้สมาชิกฯ ลงมติตีความว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน กรณีที่ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ ไม่ได้เปิดให้มีการลงมติ โดยอ้างว่ามีผู้รวมชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน
บุญแทน ยังเน้นย้ำว่า การกระทำของรัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ที่ปราบปรามประชาชนมักพยายามลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง (Impunity) ซึ่งถือเป็นการกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขณะที่ประเทศไทยเคยรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไว้แล้วหลายฉบับ แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อเป็นการอนุวัตการ จึงต้องออก พรบ. ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ
"การออก พ.ร.ก. เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมายบางมาตรา เป็นสิ่งไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างยิ่ง เป็นการสร้างรอยแผลให้ระบบยุติธรรม และกฎหมายไทย การฆ่าซ้ำซ้อนให้กับผู้เสียหาย" บุญแทน
จี้ ป.ป.ช. เร่งฟัน ครม. ทั้งชุด
เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ความเห็นของนายวิษณุ ใช้ไม่ได้ พอเรื่องของคนอื่นบอกผิด พอเรื่องของตนเองบอกยุบสภาไปแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องลาออก บอกตามมารยาทรัฐบาลปกติต้องลาออก แต่รัฐบาลของท่านไม่ลาออกแสดงว่าไม่มีมารยาทใช่หรือไม่
"ขอเรียกร้องให้คุณวิษณุ เครืองาม ลาออกรับผิดชอบการกระทำผิดในครั้งนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง และแสดงความรับผิดชอบ แม้จะยุบสภาไปแล้วก็ตาม แต่ยังรักษาการอยู่ และควรจะต้องมีการตรวจสอบและคาดโทษข้าราชการระดับสูงที่ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาด้วย"
สัปดาห์ที่ผ่านมา ครป. สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีรักษาการทุกคน ให้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เป็นเวลา 7 วันแล้ว คณะรัฐมนตรีรักษาการยังไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ซ้ำร้ายยังให้นายวิษณุ ออกมาแก้ต่างแทน อย่างน้อยทีี่สุดพวกท่านควรแสดงเจตนาแถลงรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ และขอโทษประชาชนที่ออกพระราชกำหนดผิดพลาด แต่กลับไม่มีเลย
ดังนั้น ญาติวีรชนพฤษภา 35 ครป. และภาคประชาชน จะดำเนินการไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม. ทั้งคณะ ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ เนื่องจากจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานออกไปโดยไม่มีอำนาจทำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชาติบ้านเมือง ระบบนิติรัฐ นิติธรรม และ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วตามอำนาจหน้าที่ จะปฏิเสธและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิได้
ความจริงแล้ว ป.ป.ช.ย่อมทราบถึงการกระทำดังกล่าวอยู่เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการถอดถอนคณะรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงผู้เกี่ยวข้องทุกคนจากตำแหน่งตามหน้าที่และอำนาจตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2561 บัญญัติไว้
ทั้งนี้ หากไม่มีความคืบหน้าหรือล่าช้า ญาติวีรชนพฤษภา 35 ครป. และภาคประชาชน จะดำเนินการยื่นฟ้องอาญาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ครม. ทั้งคณะ ตามความผิด มาตรา 157 ต่อไป