วันนี้ (22 มิ.ย.) กรมการขนส่งทางบก โดยสำนักการขนส่งผู้โดยสาร ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการยกเลิกสัมปทานการเดินรถประจำทางสาย 515 (ทางด่วน) หลังจากได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขอชี้แจงดังนี้
1.ตามที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มีหนังสือที่ ขสมก.916/2562 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2562 ขอทดลองเดินรถขึ้นทางด่วนศรีรัช หมวด 1 สายที่ 515 สถานีรถไฟฟ้าพญาไท – หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา โดยขอเพิ่มช่วงสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตศาลายา – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) ซึ่งจะเริ่มจัดการเดินรถตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป นั้น
2.กรมการขนส่งทางบก โดยสำนักการขนส่งผู้โดยสาร ได้ตรวจสอบรายละเอียดเส้นทางรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 สายที่ 515 ตามใบอนุญาตเลขที่ กท.22/2557 (วันสิ้นอายุ 18 ก.พ. 2564) แล้ว ปรากฏว่าเส้นทางที่ ขสมก.ขออนุญาตทดลองเดินรถโดยสารตามข้อ 1 ยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแต่อย่างใด
3.กรมการขนส่งทางบก ได้มีหนังสือด่วน ที่ 0409.5/8429 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2562 แจ้งให้ ขสมก. ทราบว่า กรมการขนส่งทางบกไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ ขสมก. ทดลองเดินรถโดยสารตามที่ขอมาได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ กรมการขนส่งทางบกพิจารณาอนุญาตให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางทดลองเดินรถโดยสารในเส้นทางที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และแจ้งให้ ขสมก. ต้องยื่นขอกำหนด (ปรับปรุง) เส้นทางและเงื่อนไขการเดินรถไว้ในใบอนุญาตฯ ให้เรียบร้อยก่อนนำรถมาเดินในเส้นทางดังกล่าว และหากประสงค์จะนำรถโดยสารประจำทางไปทดลองเดินรถในเส้นทางดังกล่าวข้างต้น ต้องไม่ใช่เป็นการเดินรถในลักษณะของการประกอบการขนส่งผู้โดยสาร
ทั้งนี้ การออกมาชี้แจงดังกล่าวของกรมการขนส่งทางบกข้างต้น เกิดจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Damrongsak Sattabut โพสต์ข้อความว่า จะมีการยกเลิกวิ่งรถประจำทางสาย 515 (ทางด่วน) โดยกรมการขนส่งทางบกจะยกเลิกสัมปทานในวันที่ 3 ก.ค. 2562 นี้ ซึ่งทราบเหตุผลของการยกเลิกคือ มีการร้องเรียนว่ามีรถโดยสารวิ่งบนทางด่วนทำให้รถยนต์ปกติไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวทิ้งท้ายในฐานะคนที่นั่งรถประจำทางสาย 515 มาค่อนชีวิต ว่าการเพิ่มเส้นทางเดินรถดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารมาก เพราะการขึ้นทางด่วน เพื่อหนีวิกฤติบนท้องถนนในกรุงเทพฯ สามารถช่วยย่นเวลาการเดินทางได้ตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงได้เลย จึงอยากให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยระบบขนส่งสาธารณะเป็นพาหนะในการเดินทางเป็นหลัก
อีกทั้งยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า อยากให้กรมการขนส่งทางบกเห็นใจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วย และส่วนใหญ่มองว่าเป็นการช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางสามารถนำเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นได้อีก และมีบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีรถประจำทางสายอื่นวิ่งบนทางด่วนเลยหรือ ถึงได้ร้องเรียนเพียงสาย 515 (ทางด่วน) เพียงสายเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :