วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียเป็นประเทศแรกที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้ได้สำเร็จ โดยมีชื่อไม่เป็นทางการของวัคซีนนี้ว่า Sputnik V และพร้อมนำมาใช้ โดยเขาย้ำว่า วัคซีนนี้ผ่านขั้นตอนการทดสอบต่างๆ ที่จำเป็นแล้ว และพบว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย
ปูตินกล่าวว่า ลูกสาวของเขาได้รับวัคซีนนี้แล้ว โดยลูกสาวมีอุณหภูมิร่างกาย 38 องศาเซลเซียสในวันแรกที่ฉีดวัคซีน จากนั้นอุณหภูมิร่างกายก็ลดลงมาที่ 37 องศาเซลเซียสตามปกติ และเมื่อฉีดวัคซีนอีกเข็ม อุณหภูมิก็สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีอาการอื่นๆ ปัจจุบันเธอสบายดีและมีแอนติบอดี้จำนวนมาก
กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียออกแถลงการณ์ว่า วัคซีนนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโคโรนามากถึง 2 ปี แต่การฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน โดยบุคลากรทางการแพมย์ ครู และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน ด้านทัตยานา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียกล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้แพทย์จะเริ่มขึ้นภายในเดือนนี้
ศาสตราจารย์อเล็กซานเดอร์ กินต์สเบิร์ก หัวหน้าสถาบันกามาเลยาที่พัฒนาวัคซีนนี้กล่าวว่า การให้วัคซีนจะเริ่มขึ้นโดยที่การทดสอบเฟส 3 ก็ดำเนินไปพร้อมกัน โดยเบื้องต้นจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับการฉีดให้ประชาชนใน 10-15 จังหวัดจากทั้งหมด 85 จังหวัด ทางการรัสเซียกล่าวว่า การผลิตวัคซีนครั้งละมากๆ จะเริ่มต้นในเดือน ก.ย. และการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงจะเริ่มในเดือน ต.ค.
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทั้งในรัสเซียและต่างชาติได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการเร่งรีบใช้วัคซีนก่อนเฟส 3 ซึ่งเป็นขั้นทดสอบวัคซีนกับกลุ่มประชากรจำนวนและมักใช้เวลานานหลายเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงรุนแรง และควรมีการตีพิมพ์งานวิจัยทางวิชาการออกมา เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนปลอดภัยจริง
หลังจากที่โควิด-19 ระบาดในรัสเซีย ปูตินได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ลดระยะเวลาในการทดลองวัคซีน เพื่อให้สามารถผลิตออกมาใช้ได้เร็วขึ้น ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในรัสเซียอยู่ที่ 897,599 คน เสียชีวิตแล้ว 15,131 ราย
รัฐบาลรัสเซียพยายามเป็นประเทศแรกที่ผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้ เพื่อสร้างภาพว่าเป็นมหาอำนาจโลก แต่การทดสอบวัคซีนในเดือน พ.ค.ก็ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าอาจมีการกดดันเกณฑ์ทหารมาเป็นกลุ่มทดลอง มากกว่าเป็นการอาสามาเอง
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ อังกฤษและแคนาดาเพิ่งกล่าวหาว่ารัสเซียใช้แฮกเกอร์เจาะข้อมูลในห้องแล็บของตะวันตก เพื่อขโมยการวิจัยวัคซีน