25 มกราคม 2566 นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 125/2566 เรื่อง ย้ายข้าราชการ ซึ่งหนึ่งในข้าราชการที่ถูกสั่งย้ายในครั้งนี้คือ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ ‘หมอจุ๊ก’ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งได้รับคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนาม คือ วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
หลังคำสั่งย้ายปรากฏต่อสาธารณชน ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายมุมมอง ด้านหนึ่งมองว่า นี่คือการกลั่นแกล้งทางการเมืองใช่หรือไม่ เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘หมอสุภัทร’ ถือเป็นตัวตั้งตัวตีในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสารณสุข ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายจัดหาวัคซีน การจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK ที่มีข้อสงสัยหลายประการ นโยบายกัญชาเสรี การทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจในทางมิชอบภายในกระทรวง การโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนการแสดงจุดยืนโดยไม่ลงนามในงบประมาณส่งเสริมป้องกันโรค ปี 2566
ส่วนความเห็นในอีกด้านมองว่า ‘เมื่อเป็นข้าราชการแล้ว ทำไมจะย้ายไม่ได้’
ข้อถกเถียงจากสองมุมมองนี้ นำมาสู่ตั้งคำถามในสองประเด็น คือหนึ่ง - กระบวนการสั่งโยกย้าย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ถูกต้องตามกระบวนการและชอบธรรมตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ และสอง - หากนี่คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง มีชนวนเหตุใดบ้างที่นำมาสู่คำสั่งโยกย้ายในครั้งนี้
“การจะโยกย้ายผมไปโรงพยาบาลสะบ้าย้อย ปกติแล้วผู้ใหญ่จะเรียกไปคุย บอกกล่าวเหตุผลและความจำเป็นว่าทำไมถึงต้องย้าย แต่กรณีของผมกลับไม่มีการพูดคุยใดๆ แต่ได้มีการออกคำสั่งมาเลย ผมได้เห็นคำสั่งนี้จากสื่อมวลชน หนังสือคำสั่งฉบับจริงยังไม่มาถึงผมเลย ยังไม่ได้เซ็นรับทราบคำสั่งเลย” นพ.สุภัทรให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย
เดิมที การสั่งย้ายข้าราชการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ คืออำนาจของปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาโดยตลอด ทว่าในกรณีของหมอสุภัทร พบว่า นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้อำนาจ นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามในคำสั่งย้ายราชการแทน
“กรณีของผม พบว่ามีความพยายามจะย้ายผมมาช่วงหนึ่งแล้ว แต่ท่านปลัดกระทรวงไม่ยอมเซ็น แต่ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนเซ็น ส่วนผู้ตรวจราชการท่านเดิม (นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก) ก็ไม่ยอมลงนาม ด้วยเหตุผลว่า …ไม่มีเหตุผลต้องย้าย การจะโยกย้ายก็ต้องมีเหตุผล ไม่ใช่โยกย้ายตามใจชอบ”
“หลังจากที่ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ไม่ยอมลงนาม ปรากฏว่าท่านโดนย้าย แล้วเอาผู้ตรวจราชการคนใหม่มาคือ นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ เพิ่งมาได้ไม่กี่วันนี้เอง มาแล้วก็ลงนามสั่งย้ายผมครับ”นพ.สุภัทรกล่าว
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เดิมทีระเบียบการให้อำนาจผู้ตรวจสั่งย้ายผู้อำนวยการเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในหนังสือหลักเกณฑ์ใหม่ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ระบุใจความว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจสั่งโยกย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญได้ 2 วันถัดจากนั้น การสั่งย้ายหมอสุภัทร โดยผู้ตรวจราชการ สธ. คนใหม่ก็ปรากฏดังที่เป็นข่าว
“สะบ้าย้อย คืออำเภอที่ไกลที่สุดในจังหวัดสงขลา ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 100 กิโลเมตร ส่วนตัวผมไม่ได้รู้สึกว่าลำบากอะไรมาก แต่ผมเข้าใจว่าคนที่สั่งย้ายคงอยากให้ผมลำบากเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าย้ายไปไกลกว่านี้ มันก็จะชัดเจนเกินไปว่าเป็นการกลั่นแกล้ง”
“สิ่งสำคัญคือ การโยกย้ายข้าราชการมันต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักธรรมมาภิบาล” ผู้ถูกโยกย้ายระบุ
หมอสุภัทรได้แสดงเจตนารมณ์ต่อกรณีนี้ว่า
“การอุทธรณ์คำสั่งคือสิ่งที่ต้องทำ และฟ้องร้องศาลปกครองต่อไป ส่วนคำสั่งที่กำลังจะมาถึง ผมก็จะเซ็นรับทราบคำสั่ง และย้ายออก” นพ.สุภัทรระบุ
นอกจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ หมวกอีกใบของหมอสุภัทร คือการทำงานในฐานะ ‘ประธานชมรมแพทย์ชนบท’ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม วีรกรรมของเขาทั้งในและนอกรั้วโรงพยาบาล สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางสังคมที่เข้มข้น และอาจทำให้เราคาดเดาได้ถึงชนวนเหตุของการถูกสั่งโยกย้ายโดยไม่เต็มใจในครั้งนี้ไม่มากก็น้อย
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ ‘หมอจุ๊ก’ เกิดและเติบโตในจังหวัดสงขลา เขาคือนักเรียนหัวดีจากอำเภอหาดใหญ่ เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาจึงเลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ได้ก้าวสู่วงการนักกิจกรรม ได้ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท และได้ติดตั้งวิธีคิดตลอดจนมุมมองทางสังคมที่ส่งผลกับการดำเนินชีวิตของเขาจวบจนทุกวันนี้
สุภัทรยังเป็นประธานชมรมค่ายอาสาสมัคร และนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ มีวิธีคิดก้าวหน้าในเรื่องกิจกรรมรับน้อง โดยเขาออกแบบกิจกรรมผ่านการพานักศึกษาร่วม 700 คน ขึ้นรถไฟไปสัมผัสชีวิตชาวบ้านในชนบท ลองทำนา ใช้แรงงาน และทำงานอาสาสมัคร
ช่วงชั้นนักศึกษาปีที่ 5 เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ จนกระทั่งเรียนจบจึงกลับบ้านเกิดในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย ในปี 2538 โรงพยาบาลขนาดเล็กที่มีแพทย์และพยาบาลรวมทั้งสิ้น 2 คน และ 4 ปี ต่อมา เขาย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้ทำงานขับเคลื่อนทั้งในและนอกโรงพยาบาล โดยเฉพาะช่วงสองปีที่ผ่านมา แพทย์ชนบทริเริ่มอาสามาช่วยปฏิบัติการกู้ภัยโควิด ตรวจเชิงรุกให้ประชาชนใน กทม.และปริมณฑล ในช่วงที่การตรวจยังเป็นไปโดยยากลำบาก รวมถึงการลุยงานโควิดหลากหลายรูปแบบในพื้นที่อำเภอจะนะ ก่อนหน้านั้นมีบทบาทระดมทุนติดโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลจนประหยัดงบประมาณได้มหาศาล กลายเป็นโรงพยาบาลต้นแบบสำคัญ
“ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2538 มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะตั้งแต่ปี 2542 มีแพทย์เพียง 3 คนอยู่หลายปี ผมสนุกกับงาน เป็นทั้ง ผอ.และหมอตรวจคนไข้ อยู่เวร ออกชุมชน สอนนักศึกษา บริหารโรงพยาบาล ร่วมกิจกรรมชุมชนทั้งการคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย ผมผูกพันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจะนะ อายุราชการที่เหลืออีก 7 ปีก็คิดจะเกษียณที่จะนะ
“จริงๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล
“วันที่ 26 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายผมหลุดออกมาทางสื่อ โดยที่ผมไม่ได้เห็นก่อน จะย้าย ผอ.รพ.บ้านนอกสักคน ต้องทำพิรุธเป็นขั้นเป็นตอนเพียงนี้เชียวหรือ ซึ่งเป็นผลดีมากกับผมในการฟ้องศาลปกครองและฟ้องผิดกฎหมายอาญา ม. 157 วันนี้ 27 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายที่เป็นทางการยังมาไม่ถึงผม ส่วนใครเป็นคนบงการสั่งย้ายผม คิดเอาเองนะครับ”
ภาพจาก Facebook : Supat Hasuwankit