250 สว.หมดอายุ พ.ค.นี้ กระบวนการคัดเลือกตาม รธน.2560 สุดซับซ้อน พริษฐ์หวั่นเกิดบล็อกโหวตแบบจัดตั้ง และความซับซ้อนจะเปิดช่องให้ 250 สว.ของ คสช.อยู่รักษาการยาว
23 มี.ค.2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงความกังวลในกระบวนการสรรหาสว.ใหม่ หลังจาก สว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระในเดือน พ.ค.นี้ โดยระบุว่า
"แม้เจตนาของกฎหมายไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนผู้สมัครคนใดหรือกลุ่มใด แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งและในฐานะสมาชิก กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ผมได้แชร์ 4 ข้อสังเกตหรือข้อกังวลที่ผมมีเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก สว. ชุดใหม่แบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ-สังคม เลือกกันเอง” ซึ่งจะเริ่มต้นในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้
1. วุฒิสภาชุดใหม่ยังคงมีโครงสร้างอำนาจ-ที่มา ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
- ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วุฒิสภาใดๆ มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คือความสอดคล้องกันระหว่างอำนาจที่ สว. มี และที่มาหรือกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ดังกล่าว
- แม้ สว. ชุดใหม่ จะมีโครงสร้างอำนาจ-ที่มา ที่มีความชอบธรรมมากขึ้นกว่า สว. 250 คนชุดปัจจุบัน (ที่มีอำนาจล้นฟ้าถึงขั้นเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถูกคัดเลือกโดย คสช. ทั้งหมด) แต่ สว. ชุดใหม่ ยังนับว่าเป็นวุฒิสภาที่มีอำนาจสูง (เช่น อำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ) เมื่อเทียบกับที่มา ที่ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการคัดเลือกกันเองในบรรดาผู้สมัคร
2. กระบวนการคัดเลือก สว. ไม่สอดรับกับเป้าหมายในการได้มาซึ่ง สว. ที่มีความเชี่ยวชาญหรือเป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ
- แม้ผู้คิดค้นกติกาคัดเลือก สว. มักอ้างถึง “เป้าหมาย” ในการได้มาซึ่ง สว. ที่เป็นที่ยอมรับในแต่ละสาขาอาชีพ แต่ “กระบวนการ” ที่ถูกออกแบบมา มีหลายส่วนที่ไม่น่าจะนำไปสู่ “เป้าหมาย” ดังกล่าวได้ เช่น
- (i) ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ มักมีแนวโน้มจะเป็นคนที่เป็นที่ยอมรับจากคนในสาขาดังกล่าวทั่วประเทศ แต่กระบวนการคัดเลือก สว. ปัจจุบัน ออกแบบให้ผู้สมัครทุกคนต้องเริ่มจากการแข่งขันกันในระดับอำเภอ ซึ่งอาจทำให้คนที่ได้เปรียบในการคัดเลือกระดับอำเภอ กลับไม่ใช่คนที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างจากคนในแวดวงดังกล่าว แต่เป็นคนที่มีเครือข่ายหรืออิทธิพลเฉพาะพื้นที่
- (ii) ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ อาจเป็นคนที่เป็นที่รับรู้และยอมรับกันโดยคนในสาขาอาชีพของตนเองเป็นหลัก แต่กระบวนการคัดเลือก สว. ปัจจุบัน มีขั้นตอนของการ “เลือกไขว้” ซึ่งทำให้ผู้สมัครที่จะได้รับคัดเลือก ต้องพึ่งคะแนนหรือความไว้วางใจจากผู้สมัครในสาขาชีพอื่น ที่อาจไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว
3. กระบวนการคัดเลือก สว. เสี่ยงต่อการ “บล็อกโหวตจัดตั้ง” (Inorganic Block Vote)
- แทนที่จะเกิดการแข่งขันกันโดยธรรมชาติระหว่างผู้สมัครแต่ละคน กติกาปัจจุบันเอื้อต่อการทำให้ผู้สมัคร สว. บางคน มีความพยายามจัดตั้งเครือข่ายของตนเองสมัครเข้ามาเป็นผู้สมัครเป็นจำนวนมากและกระจายไปในทุกกลุ่มอาชีพและทุกอำเภอ-จังหวัดเพื่อให้มาร่วมกันเลือกตนเองไปเป็น สว.
- นอกจากจะป้องกันได้ยากในเชิงปฏิบัติ แต่ผู้ออกแบบกติกา ต้องรับรู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าปรากฎการณ์ดังกล่าว (ที่มีคนมาสมัครเป็น สว. โดยไม่ได้หวังเป็น สว. เอง แต่เพื่อมาเลือกผู้สมัครคนอื่นเป็น สว.) จะเกิดขึ้น เพราะหากทุกคนที่สมัครเป็น สว. สมัครเพราะอยากเป็น สว. เอง จริงๆ ผู้สมัครทุกคนภายใต้กติกาปัจจุบันก็จะมีแรงจูงใจในการใช้ยุทธศาสตร์ “เลือกแค่ตัวเอง” (โดยไม่เลือกผู้สมัครคนอื่น และลดโอกาสที่ตนเองจะแพ้) ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครทุกคนได้คะแนนเท่ากันที่ 1 คะแนน
4. กระบวนการคัดเลือก สว. ยังมีความซับซ้อนและความไม่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติหลายด้าน
- ระเบียบ สว. ล่าสุด ที่ออกมา ยังไม่สามารถไขข้อสงสัยหรือให้ควาชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น (ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ได้ทั้งหมด เช่น
- (i) กกต. จะตรวจสอบคุณสมบัติ (ว่าผู้สมัครมีประสบการณ์ 10 ปีในด้านที่ตนเองสมัคร) โดยใช้เกณฑ์อะไร และจะพิจารณาใบสมัครและข้อโต้แย้งทั้งหมดเรื่องคุณสมบัติทันตามกรอบเวลาหรือไม่ (ในเมื่อผู้สมัครอาจมีเป็นหลักแสน และมีระยะเวลาพิจารณาไม่กี่สัปดาห์)
- (ii) กกต. จะออกระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องการแนะนำตัวหรือรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครเมื่อไหร่ และระเบียบหรือประกาศดังกล่าว จะเอื้อต่อการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครได้มากแค่ไหน?
- (iii) กกต. จะอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระจากภาคประชาชน ไปร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบกระบวนการคัดเลือก ณ สถานที่ หรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส?
- (iv) กกต. จะวางกรอบเวลาในการประกาศผลอย่างไร (ยิ่งหากมีข้อร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่การประกาศผลถูกยืดเวลาออกไปยาวนานจนเปิดช่องให้ สว. 250 คน ชุดปัจจุบัน รักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีกำหนด?