วันที่ 3 เม.ย. 2564 ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่นำร่างกลับไปปรับแก้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมมาธิการโดยจะเข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 7-8 เม.ย. นี้ โดยเฉพาะใน มาตรา 9 ที่ก่อนหน้านี้ให้รัฐบาล ครม. เสนอจัดทำประชาติ จากนั้นแก้ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอได้ แต่ไม่ระบุจำนวนประชาชนว่าต้องใช้ 50,000 หรือ 10,000 รายชื่อ ถึงแม้กรรมาธิการฯ ล่าสุด เคาะที่ 50,000 รายชื่อ แต่จากท่าทีของ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.ในฐานะประธานกรรมาธิการ เหมือนไม่อยากให้ร่างกฎหมายประชามติแล้วเสร็จ ตั้งข้อสังเกตต้องการซื้อเวลาหรือไม่ เพราะกฎหมายประชามติมีความสำคัญ เนื่องจากผูกโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่ขณะนี้สามารถแก้ไขเป็นรายมาตรา ที่ไม่ต้องทำประชามติก่อนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทางออก เรื่องจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนให้เขียนเป็นข้อสังเกตว่า จะใช้จำนวน 10,000 หรือ 50,000 คน เพราะถ้าหากยื้อเวลาแบบนี้ จะกระทบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต
ยุทธพงศ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่บริษัทบีทีเอส ทวงเงินค่าติดตั้งระบบและเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 หมื่นล้านบาท จาก กทม. และบริษัทกรุงเทพธนาคม ว่า พรรคเพื่อไทย ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งสาเหตุที่การเดินรถไฟฟ้าขาดทุนขนาดนี้ เป็นเพราะปล่อยให้ใช้บริการฟรีถึง 3 ปี ไม่ทราบว่าใครบังคับให้ดำเนินการเช่นนั้น อีกทั้งบริษัทกรุงเทพธนาคม มีทุนจดทะเบียนเพียง 50 ล้านบาท แต่บีทีเอสปล่อยให้เป็นหนี้ถึง 3 หมื่นล้านบาทได้อย่างไร ถ้ามีการจ่ายหนี้เกิดขึ้น จะเท่ากับว่าสมคบคิดกันทุจริตหรือไม่ สุดท้ายหากไม่มีการจ่ายหนี้ในวงเงินดังกล่าวจะนำไปสู่การยกสัมปทานเดินรถ 40 ปี ให้บีทีเอสหรือไม่ ตนจึงของตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นแผนใช่หรือไม่
นอกจากนี้ยังทราบว่า สัปดาห์ก่อน นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าพบวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ โดยชี้แจงว่า คดีความที่มีการฟ้องร้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2555 กรณีหลบเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น และการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายไม่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ตนจึงขอตั้งคำถามว่า ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งจากจุดไข่แดงที่มีคดีความกันอยู่ออกไปยังส่วนต่อขยาย จะไม่เกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ทั้งนี้ ตนอยากถามว่า นิวัติไชย จะเอาอะไรมารับรอง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แล้วจะรับผิดชอบอย่างไร
แฉทหารสังกัดค่ายร้อยเอ็ดพกอาวุธปืนช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น เตรียมร้อง ผบ.ทบ.ตรวจสอบ
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังได้กล่าวถึงกรณีพบทหารสังกัดค่ายประเสริฐสงคราม จ.ร้อยเอ็ด เข้ามาในพื้นที่บ้านโนนม่วง ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ในช่วงวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ภายหลังตรวจสอบพบอาวุธปืนพกขนาด .38 พร้อมปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 4 นัด ปลอกกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 2 นัด ไม่มีใบอนุญาตพกพา และติดป้ายทะเบียนรถปลอม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมาเพื่อข่มขู่ประชาชน ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยตนขอตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ทหารที่ถูกจับได้นั้นเป็นทหารอาชีพ หรือทหารพาณิชย์ เพราะถ้าเป็นทหารอาชีพต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
สอดคล้องกับที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เคยประกาศไว้ว่าทหารจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เหตุใดจึงมีกรณีนี้เกิดขึ้น ภายหลังวันเกิดเหตุ ทางค่ายได้มาติดต่อขอตัวไปดำเนินคดีต่อ แต่สุดท้ายก็เรื่องเงียบ โดยภายในสัปดาห์หน้าตนจะไปยื่นหนังสือขอเข้าพบผู้บัญชาการทหารบก เพื่อแสดงหลักฐานพร้อมสอบถามว่าดำเนินการเรื่องนี้ต่ออย่างไร
ยินดี "ยิ่งลักษณ์" ชนะคดีรอดชดใช้ 3.5 หมื่นล้านคดีจำนำข้าว
ขณะเดียวกัน ยุทธพงศ์ ยังแสดงความยินดีกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท จากกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวและจำนำข้าว โดยชี้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญา และความเสียหายเกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ไม่ได้สอบสวน เพื่อชี้ชัดใครต้องรับผิดชอบ ดังนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ซึ่งทางกระทรวงการคลัง จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป ถือว่ายื่นได้ตามสิทธิ และเชื่อว่ายิ่งลักษณ์ จะสามารถต่อสู้คดีได้จนถึงที่สุด จึงขอเป็นกำลังใจให้ผ่านไปได้ด้วยดี