สืบเนื่องกรณี ธนลภย์ ผลัญชัย หรือ หยก เยาวชนอายุ 15 ปี กลุ่มนักเรียนล้ม ผู้ต้องหา ม.112 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ถูกควบคุมตัวภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยขณะนี้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากเจ้าตัวเห็นว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบตามกฎหมาย จึงถูกคุมขังเป็นเวลา 46 วัน ในขณะที่กำลังจะเปิดภาคการศึกษาในอีก 3 วันข้างหน้า (16 พ.ค.) เสี่ยงพ้นสภาพการเป็นนักเรียน นั้น
วันที่ 13 พฤษภาคม กลุ่มเพื่อนหยก ประกอบด้วยนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง โมกหลวงริมน้ำ และทะลุแก๊ซ เผยแพร่เอกสาร เรียกร้องให้ปล่อยตัว น.ส.ธนลภย์ โดยเนื้อหาความว่า
ตามที่ เด็กหญิงธนลภย์ได้ถูกชายสูงวัยร้องทุกข์กล่าวโทษและถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ จากนั้นจึงถูกดำเนินคดีเป็นคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 368 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4
เนื่องจากต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีข่าวแจกสื่อมวลชนโดยไม่ลงไว้ในเว็บไซต์ส่วนกลางของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง แต่ใช้วิธีเผยแพร่ตามแอพลิเคชั่นไลน์ และช่องทางอื่นๆ โดยประการที่ทำให้มีความน่าเชื่อถือว่าจะเป็นข่าวแจกสื่อมวลชนของจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจริง โดยอ้างว่า
1. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีความเห็นว่าที่เด็กหญิงธนลภย์ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนนั้น เนื่องจากมีการสอบในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และต้องต่อเนื่องไปรายงานตัวในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่ขอเลื่อนไปเพียง 3 วัน เด็กหญิงธนลภย์ ได้ไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ จึงทำให้เห็นว่าการเลื่อนขอเข้าพบพนักงานสอบสวนในครั้งที่ 2 เป็นการประวิงเวลาการอนุญาตให้ออกหมายจับเด็กหญิงธนลภย์ตามขอเป็นการออกหมายจับโดยชอบ
2. แม้เด็กหญิงธนลภย์จะไม่ลงลายมือชื่อในใบแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายแต่เมื่อศาลได้ตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้แก่เด็กหญิงธนลภย์ ก็ถือว่ามีที่ปรึกษากฎหมายแล้วเพราะศาลแต่งตั้ง
3. เห็นว่าการจับและปฏิบัติต่อเด็กหญิงธนลภย์ เป็นไปโดยชอบในวันตรวจสอบการจับ
4. เด็กหญิงธนลภย์ มีบิดามารดาสามารถมาแสดงตัวขอรับเด็กไปได้ และเด็กหญิงธนลภย์ มีสิทธิขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 106
กลุ่มเพื่อนหยก ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบดังต่อไปนี้
1. การทำกิจกรรมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเด็กหญิงธนลภย์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการไปสอบ การไปเรียน และการไปมอบตัว ซึ่งในระหว่างวันที่เด็กหญิงธนลภย์ได้ไปขอเลื่อนพนักงานสอบสวนไม่มีความจำเป็นที่เด็กหญิงธนลภย์จะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนเพียงอย่างเดียวจึงจะสามารถเลื่อนนัดหมายดังกล่าวออกไปได้ ที่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประวิงเวลาและควรให้ออกหมายจับ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่เสมือนไม่ให้เด็กหญิงธนลภย์ไปทำสิ่งอื่นใดเลยที่ทำได้ตามกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนและตามหลักประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ดุลยพินิจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร และเป็นการตีความกฎหมายในทางที่กว้างและจำกัดเสรีภาพของบุคคลอย่างไม่มีขอบเขต และยังเป็นการสะท้อนถึงลักษณะการใช้ดุลยพินิจในการออกหมายจับหรือการคุมขังบุคคลไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเยาวชนของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมที่น่าเป็นห่วง เพราะการบังคับใช้ดุลยพินิจในลักษณะเช่นนี้ เป็นทิศทางที่เป็นอันตร้ายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. เด็กหญิงธนลภย์ได้แจ้งต่อสาธารณชนหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าตั้งแต่ในชั้นตำรวจหรือขณะมีบุคคลเข้าเยี่ยม โดยยืนยันตลอดมาว่า ตนไม่ลงลายมือชื่อในใบแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย ตนไม่เซ็น ตนไม่อยากรับรู้ และตนไม่เข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมของศาล เพราะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้ ผิดมาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงมีความกังวลว่าเด็กหญิงธนลภย์จะยังไม่รับที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลได้บังคับแต่งตั้งให้ ขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีหนังสือชี้แจงไปยังเด็กหญิงธนลภย์ด้วย
3. การจับและปฏิบัติต่อเด็กหญิงธนลภย์ ไม่มีทางเป็นไปโดยชอบ ด้วยกฎหมาย โดยเด็ดขาด เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏแก่สาธารณะชนทั่วไปว่า ในการจับกุมเด็กหญิงธนลาย์ เป็นการจับกุมแบบรุนแรง มีการรวบตัว เยาวชนกรีดร้องด้วยความหวาดกลัว ไม่มีการแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับในเวลา 2 ชั่วโมงแรก ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการให้ดูหมายจับตั้งแต่แรกจับ ไม่มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้เด็กทราบ
การนำหมายจับมาแสดงเป็นการนำหมายจับมาแสดงภายหลังไม่ได้นำไปยังที่ทำการขอ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่รับผิดชอบโดยเร็ว ไม่มีการให้สิทธิในการติดต่อสื่อสาร หรือปรึกษาหารือกับบุคคลที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจับกุมและอยู่ในวิสัยที่ดำเนินการได้ในระหว่างถูกจับตามสมควรแก่กรณีโดยไม่ชักช้า และซ้ำร้ายยังยึดโทรศัพท์ไปโดยทันทีในขณะจับกุม ซึ่งในการนี้ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า การจับกุมและการควบคุมเด็กหรือเยาวชน จะต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีการประจานเด็กหรือเยาวชน ไม่ใช้และต้องห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จำเป็น และห้ามถ่ายภาพเด็กโดยเด็ดขาด ซึ่งปรากฎว่ามีพนักงานสอบสวนหลายคนถ่ายภาพเด็กอยู่ตลอดเวลาในขณะเกิดเหตุที่ สน.พระราชวัง
นอกจากนั้นแล้ว ในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวเด็กมาปรากฏตัวต่อศาล ก็ปรากฏว่าเด็กมีพฤติกรรมและพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งผิดวิสัยปรกติปฏิบัติโดยทั่วไป อันบ่งชี้ได้หากมีใครตั้งใจสังเกตว่าเด็กอาจไม่ได้รับการปฏิบัติตนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างละมุนละม่อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เด็กมีพฤติการณ์ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมตลอดมา แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก็ยังมีความเห็นว่าการตรวจสอบจับนั้นชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการจับของตำรวจนั้นชอบด้วยกฎหมายกลุ่มเพื่อนหยกมีความเห็นว่า การใช้ดุลยพินิจเช่นนี้ เป็นภัยต่อเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศไทย
4. เด็กหญิงธนลภย์ ถูกคุมขังอยู่ที่สถานพินิจด้วยคำสั่งของศาล ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2566 ต่อเนื่องกันมาจนวันนี้ หากมีการปล่อยตัวเด็กหญิงธนลภยไป ก็มีนาย ส. รวมถึง บุคคลไว้วางใจของเด็กหญิงธนลภย์ทุกคนสามารถรับตัวเด็กหญิงธนลภย์เพื่อไปส่งที่บ้านได้อย่างปลอดภัย โดยศาลและกรมพินิจสามารถร่วมนำตัวไปส่งที่บ้านเพื่อดูแลให้เห็นว่าได้เดินทางถึงบ้านและพบผู้ปกครองจริง
นอกจากนี้ ที่ว่าเด็กหญิงธนลภย์ จะมีสิทธิในการยื่นปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 106 นั้น ในความเป็นจริง เด็กหญิงธนลภย์จะไม่ต้องยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวไปเลย หากศาลไม่มีคำสั่งให้ขัง เด็กหญิงธนลภย์ไว้ และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ยังมีสิทธิและอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะปล่อยตัวเด็กหญิงธนลภย์ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเด็ก ตามกฎหมายเด็ก และตามหลักการของการดำเนินคดีเด็กและเยาวชน
อนึ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นที่พึ่งที่จะนำความยุติธรรมสุดท้าย มาให้บรรดาเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศไทย ที่ถูกผู้ใหญ่กลั่นแกล้งและแจ้งข้อหาความผิดมาตราเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทั้งหลาย ท่านจึงเป็นที่พึ่งหนึ่งเดียวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นเยาวชน หรือบิดามารดาของพวกเขา จึงขอเรียนมาเพื่อได้โปรดให้ท่านพิจารณาทบทวนหลักการและแนวทางการปรับใช้ดุลยพินิจด้วย
กลุ่มเพื่อนหยก เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยเด็ก