ไม่พบผลการค้นหา
‘โรม’ จวก รัฐบาล ‘หูทวนลม’ ไม่คิดสืบสาวหาตัวการใหญ่ ‘ค้ามนุษย์โรฮิงญา’ รอคดีใหม่ผุดขึ้นเป็นข่าวต่อเนื่อง

รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีรายงานข่าววันที่ 10 มีนาคม 2565 เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่การขนคนลงเรือมาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เข้าประเทศไทยที่ จ.ระนอง เอามาทิ้งไว้ในป่าโกงกาง เช่นที่มีการตรวจพบและควบคุมตัวล่าสุด 14 คน ที่อยู่ในสภาพอิดโรย เพื่อรอนายหน้ามานำส่งข้ามแดนไปยังประเทศมาเลเซียอีกต่อหนึ่ง ซึ่งชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต้องจ่ายเงินให้กับกระบวนการทั้งหมดนี้ถึงรายละ 52,000 บาท ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา มีรายงานการควบคุมตัวผู้หลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนถึง 251 คน คนนำพา 4 คน และผู้ให้ความช่วยเหลืออีก 36 คน

“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ว่าจะเส้นทางที่ใช้ ลักษณะของการเก็บค่านายหน้า การเอาคนมาปล่อยไว้กลางป่าเขา ล้วนเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยมีใครเตือนด้วย มีผมคนหนึ่งแน่ๆ ที่เตือนเรื่องนี้ดังๆ ผ่านการอภิปรายทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทว่าคำตอบจากผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแต่อ้างว่า ผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ให้เป็นเรื่องของอดีต ซ้ำยังพูดจาดูเบาต่อการสิ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้มุ่งมั่นไขคดีอย่าง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ต้องประสบพบเจอจนทำให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ปัดสวะให้เป็นเรื่องที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนต้องไปต่อสู้ดิ้นรนเอาเอง พูดง่ายๆ คือไม่ได้แยแสต่อทั้งสถานการณ์การค้ามนุษย์และความเดือดร้อนของคนทำงานเลยแม้แต่น้อย”

รังสิมันต์ ยังย้ำอีกครั้งว่า ถ้าภาครัฐยังทำหูทวนลมต่อเรื่องนี้ ไม่คิดที่จะสืบสาวราวเรื่องไปยังผู้มีอำนาจที่อยู่สูงไปกว่า พล.ท.มนัส คงแป้น และยังไม่คิดจะดำเนินการเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ก็ไม่ต้องหวังเลยว่าการค้ามนุษย์จะยุติหรือแม้แต่จะคลี่คลาย มันจะเกิดขึ้นต่อไปและจะไม่ลดระดับความรุนแรงลงแน่ แค่รอวันที่คดีใหม่ๆ จะผุดขึ้นมาเป็นข่าวเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

"ผมหวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบจะมีคำตอบต่อเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพเรือที่ดูแลน่านน้ำที่ขบวนการพวกนี้ใช้ขนคนเข้ามา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ต้องดูแลการเข้าออกผ่านแดน ไปจนถึงตำรวจและกองทัพภาคในพื้นที่ นอกจากนี้ ในวันพุธที่ 16 มีนาคมที่จะถึง คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะมีการพิจารณาศึกษาข้อกฎหมายและแนวนโยบายในเรื่องดังกล่าว โดยจะเชิญ ผบ.ตร., ผบ.ทร., ผบช.ภ.9, อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีต ผบ.ตร. ในช่วงที่มีคดีค้ามนุษย์เมื่อปี 2558 มาร่วมชี้แจงด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านที่ได้กล่าวไปนี้มาเข้าร่วมด้วยตัวเองเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"