วันที่ 18 มี.ค. 2566 อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบการดำเนินงานของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ต่ออายุเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และเครื่องหมายการค้า “HOM MALI” พร้อมประชาสัมพันธ์ และพัฒนาฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าของผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย (List of Certified Thai Hom Mali Rice Brands) ตรวจสอบ สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ มาตรฐาน และขยายฐานตลาดข้าวหอมมะลิไทยตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ข้าวไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย ประกอบด้วย เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และเครื่องหมายการค้า HOM MALI ซึ่งได้เริ่มจดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยตั้งแต่ปี 2541 และปี 2534 ตามลำดับ โดยต่อมาได้ขยายการจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวม 48 ประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุก 10 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน เพื่อเป็นการปกป้องและรักษาสิทธิข้าวหอมมะลิไทย โดยในปี 2565 ดำเนินการต่ออายุเครื่องหมายดังกล่าวไปแล้ว 12 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ฮังการี โปแลนด์ เดนมาร์ก อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เบเนลักซ์ ไอซ์แลนด์ และแคนาดา ส่วนปี 2566 อยู่ระหว่างการต่ออายุเครื่องหมายดังกล่าวอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ออสเตรีย ญี่ปุ่น สวีเดน สิงคโปร์ และเวียดนาม
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ และพัฒนาฐานข้อมูล List of Certified Thai Hom Mali Rice Brands โดยเน้นย้ำความเป็นสินค้าข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานจากประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน จากกรณีข่าวโรงงานข้าวในประเทศจีน ได้ปลอมข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอาหารของจีนที่กำหนด กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งต่อมาโรงงานข้าวปลอมตราสินค้าและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิได้ถูกสั่งปิดในที่สุด โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของไทยเร่งประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าของผู้ส่งออกข้าวไทยที่เข้าร่วมโครงการประชาสัมพันธ์ เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในต่างประเทศมากที่สุด และมีการประชาสัมพันธ์ผ่าน https://thaihommaliricecertificationmark.dft.go.th/
“นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นในคุณภาพ และเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งมีมาตรฐานและเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมศักยภาพตั้งแต่ต้นทางการผลิต การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมคุณภาพ ไปจนถึงปลายทางการส่งออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมทั้งได้เน้นย้ำให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ในต่างประเทศ เฝ้าระวังการปลอมปมหรือละเมิด และดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อพบการละเมิดใช้เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยอีกด้วย” อนุชากล่าว