ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่ม CARE เสนอมาตรการ ‘ภาษีเงินได้ติดลบ’ แก้ปัญหาความยากจน ชี้ ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ ไทยทำได้ หากคิดทำตั้งแต่วันนี้

ในเวทีระดมสมองเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาความยากจน หัวข้อ ‘คนไทยไร้จน : ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง’ ที่จัดโดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย วันนี้(14 ก.พ. 2564) ที่ ลิโด้ คอนเนค โดยมีวิทยากรร่วมเสนอความเห็นแนวทางแก้ปัญหาความยากจน อาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, ปราชญ์ ปัญจคุณาธร, รัศมิ์ ชาลีจันทร์, สฤณี อาชวนันทกุล, ศุภวุฒิ สายเชื้อ


ภาษีเงินได้ติดลบ (Negative Income Tax – NIT)

ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE เสนอมาตรการที่จะใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และน่าจะใช้แก้ไขปัญหาความยากจนในระยะยาวที่เรียกว่ามาตรการ ‘ภาษีเงินได้ติดลบ’ หรือ Negative Income Tax (NIT)

โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีคนไทยอยู่ภายใต้เส้นความยากจน หรือ มีรายได้ไม่เกิน 2,763 บาท/คน/เดือน มากกว่า 4.3 ล้านคน ซึ่งหลังมีวิกฤตโควิด-19 จำนวนคนยากจนน่าจะเพิ่มขึ้น โดยจากการประเมินพบว่า จำนวนคนยากจนหรือคนที่อดอยากน่าจะมีอยู่ราว 9.7 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่ราว 15 ล้านคน

ศุภวุฒิ.png

ศุภวุฒิ อธิบายว่า มาตรการภาษีเงินได้ติดลบ Negative Income Tax (NIT) คือคนไทยคนไหนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ให้มารับเงินจากรัฐบาลได้เลย โดยเสนอให้ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน สูงกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย สำหรับคนที่ไม่มีรายได้เลย และคนที่มีรายได้ระหว่าง 1,000-6,000 บาท ให้นำรายได้นั้นมาหารสอง และไปลบกับ 3,000 บาท จากนั้นให้รัฐบาลสนับสนุนเงินส่วนต่างให้ ซึ่งจากการคำนวณคาดว่ามีคนไทยอยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือประมาณ 10.5 ล้านคน จะใช้งบประมาณระหว่าง 2.5-3.6 แสนล้านบาทต่อปี เชื่อว่ามาตรการนี้น่าจะทำได้ค่อนข้างเร็ว เพราะรัฐบาลเองก็มีข้อมูลประชาชนที่ถือบัตรคนจน 15 ล้านคนอยู่แล้ว

“เวลาคนที่มีปัญหาได้รับเงินมา เขาจะรีบใช้เงิน และใช้เงินในบริเวณใกล้ๆ ตัวเขา ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มันจึงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่เขาต้องรีบใช้เงินในทันที อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าซื้อเรือดำน้ำ” ศุภวุฒิ กล่าว

 

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Incom - UBI)

นพ.สุระพงษ์ สืบวงลี ผู้ประสานงานกลุ่ม CARE กล่าวว่า ทำอย่างไรให้คนไทยไร้จน คือโจทย์ที่ใหญ่มาก ซึ่งไม่ใช่เป็นโจทย์เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เพราะเคยมีความคิดเมื่อ 500 ปีก่อนจบวนจนถึงปัจจุบัน ว่าจะทำอย่างไรอย่างให้คนในสังคมมีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อก้าวพ้นจากความยากจน แต่ยังไม่มีการลงมืออย่างจริงจัง

โดยส่วนตัวขอเปรียบเทียบกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งการที่จะเข่าถึงคือสิทธิ ไม่ใช่การร้องขอ แต่ให้เข้าใจว่าคือสิทธิ ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็สามารถเข้าถึงสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกันการที่จะเข้าถึงรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Incom) หรือ UBI ต้องคิดว่านี่คือสิทธิ ไม่ใช่เรื่องของการร้องขอ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม จะมีรายได้สม่ำเสมอทุกๆเดือน หรือมีรายได้ที่ไม่มากพอเกินเส้นความยากจนก็จะได้รับสิทธินี้

ซึ่งนอกเหนือจาก Negative Income Tax (NIT) ในเรื่องของบำนาญถ้วนหน้าก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม วันนี้เรามีเบี้ยผู้สูงอายุ คนที่มีอายุเกิน 60 ปี ได้รับ 600-1,000 บาท แต่ถ้าเกิดเราบอกว่าอยากจะให้ ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอเกินกว่าเส้นความยากจน อาจจะตั้งให้คนละ 2,763 บาทต่อเดือน ถ้าเกิดให้ผู้สูงอายุหมดประมาณ 11 ล้านคน จะต้องใช้เงินประมาณ 3.4  แสนล้านบาท

ส่วนเรื่องของเด็กที่ถือที่เป็นอนาคตของชาติ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเด็กยากจน ไม่สามารถจะมีโภชนาที่ดี เข้าถึงการศึกษาที่ดี มีเด็กในประเทศ ประมาณ 14 ล้านคน ถ้าหากมองดูว่าให้เด็กทุกคนที่ไม่เกินเส้นความยากจนก็อาจจะใช้เงินประมาณ 4.7 แสนล้านบาท

ถัดมาที่รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Incom) หรือ UBI สำหรับคนไทยทุกๆคน 67 ล้านคน คนละ 2,763 บาทต่อเดือน จะต้องใช 2.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 2 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปัจจุบัน ตัวเลขเหล่านี้ต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่เพ้อฝันหรือไม่ แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อ 22 ปีที่แล้วเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็เป็นเพียงความเฟ้อฝันเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะมาดูตัวเลขอาจจะมาก แต่ถ้ามาดูผลลัพธ์ที่จะตามมา ซึ่งพิสูจน์จากงานวิจัยหลายชิ้นสำหรับ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ในปีแรกใช้เงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ปัจจุบัน 1.9 แสนล้าน แต่ผลลัพธ์ที่กลับมาคนกว่า 40 ล้านคน มีโอกาสที่สามารถทำมาหากินต่อไป และมีตัวเลขที่บอกว่า คนที่เคยที่ต้องสะสมเงินเพื่อเอาไว้เป็นหลักประกันเมื่อเจ็บป่วย ก็พ้นจากความกังวล ปลดเปลื้องจากความไม่มั่นใจตรงนั้น ทำให้มีความมั่นใจว่ามีหลักประกันสุขภาพแล้ว สามkรถนำเงินเหล่านั้นไปลงทุน หรือหาโอกาสใหม่ๆสร้างรายได้ต่อไป

สุระพงษ์.png

อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้จะไม่สามารถคำนวณได้ว่าถ้าให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าแล้วเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หรือตัวเขาเองจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเห็นตัวเลขทะลุเพดานที่ทำให้คนที่เคยมีศักยภาพแต่ถูกกดทับเอาไว้สามารถที่จะเปล่งประกายได้มากขึ้น ดังนั้นโดยสรุปส่วนตัวมองว่า เรื่องของความจน อาจจะมีวิธีคิดหลายแบบก่อนหน้านี้ มีเรื่องเกี่ยวกับมีเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่รู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน มีเงินเยียวยาสั้นๆ 3เดือน แต่ถ้าหมดไปไม่รู้จะเป็นอย่างไร บางครั้งความฝันอาจจะจบลงด้วยว่าไม่ต้องไปคิดอะไรที่อ้อมๆ คิดให้ตรงๆ

“มีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยคนไม่มีปัญหาเรื่องหลักประกัน ก็ให้หลักประกันสุขภาพ มีปัญหาคนจน ทำอย่างไรให้เขาพ้นจากความยากจน ก็ให้เงินที่พ้นความยากจนตรงที่สุด แต่ถ้าหากบอกว่าถึงขั้นสุดท้าย คือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ยังเป็นฝันที่ไกลพอสมควร อาจจะจะต้องเดินไปทีละก้าว โดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงจุดหมาย เราเคยฝันไกลเรื่องความเจ็บป่วย นำมาสู่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ถึงจุดหมายในวันนี้ อาจะต้องช่วยกันคิดว่าจะฝันตรง หรือฝันไกล เพื่อให้สามาระชนะความจนแล้วถึงจุดหมายได้อย่างไร” นพ.สุระพงษ์ กล่าว

 

คนไทยจนเพราะ(ดัน)ทน

ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ก่อตั้งบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ในฐานะสมาชิกเริ่มต้น และผู้ประสานงานกลุ่ม CARE ในความเห็นในฐานะผู้ทำธุรกิจว่า คนไทยไร้จนได้ถ้าเปลี่ยนวิธีคิด แต่ที่สำคัญคือรัฐต้องให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นกำลังสำคัญเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจของประเทศ

โดยคนไทยเป็นคนที่มีความอดทนสูงในระดับโลก มากขนาดที่ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าใครจะทำอะไรกับเราก็ตาม เราก็ยังทนได้ ถ้าเรายังทนอยู่เราก็ยังต้องจนต่อไป มีบางสิ่งบางอย่างที่ใช้การไม่ได้ ทั้งในเรื่องของนโยบาย การลงมือกระทำ เราเป็นคนที่ไม่ออกมา และโวยวายว่าสิ่งนี้ใช้การไม่ได้ แม้ในช่วงระยะหลังเราจะพูดและแสดงออกมาขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึงในระดับที่สร้างผลลัพธ์ หรือการเปลี่ยนแปลงได้ ถามว่าถ้าเป็นชนชาติอื่นถ้าอยู่ในระดับนี้ของความยากลำบาก ของนโยบาย ในกรอบความคิดแบบนี้ ผมคิดว่าเขาเลย ไม่ปล่อยให้อดทนมากขนาดนี้

“ถ้าเปรียบเทียบคนไทยเหมือนรถ ผมคิดว่าเหมือนรถกระบะ คือมีความบึกบึน สมบุกสมบันมาก เราเก่งมาก รถกระบะเราดีมาก ไม่ว่าคนในเมืองหรือคนต่างจังหวัด เก่ง ลุย ไม่หยุด แต่ถ้าวันนึงรถกระบะวิ่งลงเหวเป็นความผิดของใคร เป็นกรรมของรถหรือเป็นเวรของคนขับ มองว่าถ้าเรามัวโทษแต่รถกระบะ แต่ถ้าเราไม่โทษคนขับเลย ผมว่า เราเป็นแบบไหนกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รถ ปัญหาอยู่ที่คนขับ” ดวงฤทธิ์ กล่าว

ดวงฤทธิ์.png

 

เติมเงินเข้าประเทศ-สร้างเงินทุนหมุนเวียน แก้จน

ดวงฤทธิ์ แนะว่า หนทางที่จะพ้นจากความจนของคนไทยมีอยู่ 4 เรื่องหลักๆ คือ

  • 1. เติมเงินเข้ามาในประเทศ เพราะขณะนี้เราไม่มีเงินเหลือในประเทศแล้ว อยากให้ใครสักคนเอาเงินเข้ามาเติมในประเทศ อ้างอิงจากตัวเลขปี 2544-2549 ไทยมีอัตราการลงทุนจากต่างเทียบกับประเทศในอาเซียนอยู่สูงถึงประมาณ 41% แต่เมื่อเทียบปี 2559-2561 เหลือเพีนง 14% เท่านั้น นั่นแปลว่าไม่มีการลงทุนในไทยแล้ว คำถามคือ ทำไมต่างชาติจึงไม่อยากลงทุนในไทย ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยยังขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย หรือเพิ่มขึ้นในปี 2558-2561 ประมาณ 14 เท่าตัว ซ้ำยังเกิดเงินทุนไหลออกในตลาดหุ้นด้วย ดังนั้นต้องทำให้ทำให้เกิดการลงทุน ไม่ใช่การกู้เงินอย่างเดียว ถ้ารัฐบาลหาเงินเป็น ทำธุรกิจเป็น เอาเงินที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศ ค่าเงินบาทก็อาจจะมีการสมดุลมากขึ้น เราก็จะมีรายได้เข้ามา แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย ดังนั้นพอคนไทยจน รัฐเก็บภาษีไม่ได้ ก็กู้เงิน ถ้าคุณทำการค้าไม่เป็นแล้วคุณกู้อย่างเดียว ผมว่าสิ่งที่จะเหลือกับคนไทยทุกคนคือเป็นหนี้กันถ้วนหน้า หรืออีกแนวทาง คือ รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในรูปพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำและมีกำหนดคืนเงินในระยะยาว (QE) เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ
  • 2. สร้างทุนหมุนเวียนสำหรับเอสเอ็มอี เพราะตอนนี้ต้องยอมรับผู้ประกอบการรายเล็กกำลังเป็นบ่อน้ำที่เหือดแห้ง จากผลกระทบโควิด-19 แต่รัฐบาลบอกให้ปิดธุรกิจ ทำให้ไม่มีรายได้ ตอนนี้อยู่ในภาวะที่เจ็บปวด แนวทางคือควรปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี โดยรัฐบาลค้ำประกันเงินกู้บางส่วน รวมถึงการเพิ่มทุนของเอสเอ็มอีโดยรัฐเข้าร่วมทุน
  • 3. ภาษีเงินได้ติดลบ (Negative Income Tax) ในเมื่อเมื่อประชาชนจน ก็จะจ่ายภาษีได้น้อย ส่งผลให้รัฐไม่มีรายได้ ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีหนีกขึ้น ประชาชนก็จะยิ่งจนหนักเป็นวงจรอุบาทว์ ดังนั้นภาษีเงินได้ติดลบจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลคิด และไม่มีทางคิดอย่างอื่นเลย
  • 4. ทำให้กล้า ไม่ใช่ทำให้กลัว ดูได้จากไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ได้วัคซีนโควิด-19 รัฐบาลเก่งมากในการทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะการให้ข่าวที่กลับไปกลับมา ไม่มีความแน่นอน ส่วนตัวคิดว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการสื่อสารให้เกิดความกลัวไม่สามารถทำให้คนไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน