ไม่พบผลการค้นหา
‘ภูมิธรรม’ แจงข้อตกลง ‘FTA ไทย-ศรีลังกา’ ต่อรัฐสภา เผยสาระสำคัญเน้นลดภาษีคู่ค้าสูงสุด ‘ร้อยละร้อย’-ยกเว้นอากรศุลกากร 16 ปี เชื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าสินค้า-การบริการ-การลงทุน เอื้อผู้ประกอบการไทยสู่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียใต้-แอฟริกา

วันที่ 29 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในการพิจารณาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area; FTA) ระหว่างไทย และศรีลังกา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยรัฐสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ม.178 ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 112 วรรค 2 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากไม่แล้วเสร็จจะถือว่า รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ 

โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทน ครม. กล่าวชี้แจงหลักการ และเหตุผลของ FTA ไทย-ศรีลังกา ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561 ครม. มีมติเห็นชอบการเจรจาการค้าเสรีแบบกรอบกว้าง เพื่อครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มเจรจาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2561 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา จากนั้นในปี 2562-2565 การเจรจาได้หยุดชะงักชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศศรีลังกา และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนจะกลับมาเจรจาได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 18-20 ธ.ค. 2566 จากนั้นจึงมีการลงนามเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 ถือเป็นฉบับที่ 15 ของประเทศไทย 

สำหรับการลงนามการค้าเสรีนั้น มีสาระสำคัญในเรื่องของการค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า วิธีศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเยียวยาทางการค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความโปร่งใส และการระงับข้อพิพาททางการค้า 

ภูมิธรรม กล่าวโดยสรุปว่า การค้าสินค้าระหว่างสองประเทศมีพื้นฐานอยู่บนความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากร และการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Oganization; WTO) โดยกำหนดพันธะกรณีที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติในการลดหรือยกเว้นอากรศุลกากร ตามข้อผูกพัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และทำให้มีความโปร่งใส รวมถึงลดอุปสรรคทางการค้าจากการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศภาคี และขณะนี้การเปิดตลาดการค้าเสรีของทั้งไทย และศรีลังกามีค่าเท่าเทียมกันคือร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งสินค้าร้อยละ 50 ของทั้งหมดจะมีการยกเว้นภาษีทันที และมีเวลายกเว้นอากร 16 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ 

ภูมิธรรม กล่าวต่อว่า การค้าบริการมีพื้นฐานความตกลงทั่วไปใน 4 รูปแบบคือ การให้บริการข้ามพรมแดน การบริโภคในต่างประเทศ การจัดตั้งธุรกิจ และการให้บริการโดยบุคคลธรรมดา โดยไทยได้เปิดตลาดการค้าบริการอยู่ในระดับที่ไม่เกินกว่ากรอบกฎหมายปัจจุบัน ภายใต้การตกลงการค้าเสรีฉบับอื่น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ อาทิ การบริการโทรคมนาคม การท่องเที่ยว การขนส่ง 

ทั้งนี้ ไทยเปิดตลาดให้ผู้ให้บริการจากศรีลังกาถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ในบางสาขาย่อย อาทิ การบริการวิจัยและพัฒนา การบริการด้านคอมพิวเตอร์ การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ขณะที่ศรีลังกาเปิดให้ในระดับสูงถึงร้อยละร้อยในจำนวน 50 สาขาย่อย อาทิ การบริการคอมพิวเตอร์ การวิจัยและพัฒนา การโฆษณา การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ การบริการแฟรนไชส์ การบริการสิ่งแวดล้อม การบริการด้านการเงินและประกันภัย การบริการด้านกีฬาและนันทนาการ รวมถึงการขนส่งทางทะเล ฯลฯ 

ขณะที่การลงทุนไทยได้เปิดให้ศรีลังกาลงทุนด้วยการถือหุ้นร้อยละร้อย จำนวน 30 สาขา อาทิ การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ การแปรรูปและถนอมปลา การแปรรูปและถนอมผลไม้หรือผัก และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ ขณะที่ศรีลังกาให้ไทยลงทุนการผลิตร้อยละร้อยเช่นเดียวกัน ในจำนวน 35 สาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร การผลิตสิ่งทอ การผลิตยานยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนทางการแพทย์และทันตกรรม ฯลฯ 

“แสดงให้เห็นว่า FTA ไทย-ศรีลังกา สะท้อนบริบท และศักยภาพทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นผลสำเร็จของทุกภาคส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นเพื่อจัดทำเป็นท่าทีของไทยในทุกช่วงการเจรจา” ภูมิธรรม กล่าว 

ภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า ในภาพรวมของข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนั้น มีความสอดคล้องกับกฎหมายของไทย โดยไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่จะมีเพียงการออกประกาศกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ใน 3 เรื่องคือ ยกเว้นอาการและลดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าที่ผูกพันการลดภาษีภายใต้ FTA, คำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรเพื่อปฏิบัติตาม FTA และประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิทางภาษีศุลกากร

ทั้งนี้ ภูมิธรรม เปิดเผยอีกว่า FTA ระหว่างไทย และศรีลังกา ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากที่คู่ภาคีมีกระบวนการดำเนินการภายในประเทศที่จำเป็นแล้วเสร็จ และเชื่อว่าความตกลงนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเป็นห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เนื่องจาก ศรีลังกามีจุดแข็งด้านที่ตั้งซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ เพราะอยู่บนเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของโลกในมหาสมุทรอินเดีย มีการเชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ รวมถึงมีวัตถุดิบด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับนักลงทุนไทย 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า อาทิ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคการบริการ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบต่อไป