รายงานชิ้นล่าสุดจากธนาคารออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ หรือ ANZ เปิดเผยข้อมูลในตลาดตราสารหนี้ชี้ว่า จีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้มีสัดส่วนหุ้นกู้สูงขึ้นมากที่สุดและรวดเร็วที่สุดเมือเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์ในช่วง 2 - 3 ปีก่อนหน้า
ในรายงานช่วงหนึ่งชี้ว่า "ปริมาณหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับที่รวดเร็วเช่นนี้ ... เกิดจากทั้งความตึงเครียดของสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบที่ตามมา ... ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป อาจส่งผลให้ระดับอันดับความน่าเชื่อถือลดลง เกิดการผิดนัดชำระหนี้ และฉุดให้เศรษฐกิจหดตัว"
สำหรับสถานการณ์ในเกาหลีใต้ รายงานแสดงความกังวลต่ออุตสาหกรรมพลังงานและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีมากที่สุด พร้อมชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทพลังงานสัญชาติเกาหลีใต้ "กู้เงินมากเกินไปและมีเงินสดป้องกันน้อย"
ขณะที่เอสเอ็มอีก็ดูจะมีเงินสดไม่เพียงพอในระดับที่สาหัสกว่าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมหภาคเพราะเอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเกาหลีใต้
ตามข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา นักลงทุนชาวต่างชาติเข้าซื้อหุ้นกู้ของเกาหลีใต้ทั้งสิ้น 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 712,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการถอนทุนในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย เม็กซิโก ตุรกี และแอฟริกาใต้ กลับมากถึง 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่านักลงทุนประเมินว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะกลับมาได้จากวิกฤตครั้งนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ
ปัจจัยอย่างกำไรจากการถือเงินวอนเองก็ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติไม่น้อยเนื่องจากเกาหลีใต้มีอุปสงค์ต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากจนนักลงทุนชาวต่างชาติที่ปล่อยกู้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แลกกับสกุลเงินวอนได้ผลตอบแทนมากกว่าสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
นอกจากนี้ การที่ระดับอันดับความน่าเชื่อถือโดยรวมของประเทศอยู่ในระดับสูงก็เป็นเครื่องดึงดูดใจนักลงทุนเช่นเดียวกัน พันธบัตรของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ Aa2 จากฝั่งมูดีส์ ระดับ AA จากเอสแอนด์พีโกลบอล ซึ่งนับเป็นระดับที่ดีที่สุดอันดับที่ 3 ของทั้งสองสถาบัน และอยู่ในระดับ AA- จากฟิทช์ เรทติ้งส์
'อองเดรย์ เดอ ซิลวา' หัวหน้าวิจัยระดับตลาดเกิดใหม่ของธนาคารเอชเอสบีซีในฮ่องกง ชี้ว่า พันธบัตรของเกาหลีถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากมีระดับการจัดอันดับที่สูง และมีโครงสร้างที่เข้มแข็ง นอกจากนี้กว่าร้อยละ 55 ของผู้ถือพันธบัตรชาวต่างชาติก็เป็นธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ความน่าเชื่อถือจึงยิ่งมีมากขึ้นไปอีก
ระดับผลตอบแทนก็เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ค่ากลางของพันธบัตรระยะเวลา 10 ปีของเกาหลีใต้อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไทยที่อยู่ที่ร้อยละ 1.14 และสิงคโปร์ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.90 หรือไต้หวันที่อยู่เพียงร้อยละ 0.48
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา นายฮง นัม-กี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ ยังออกมาประกาศว่าอาจมีมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยเหลือการลงทุนของภาคเอกชนผ่านการลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ลง หลังตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/2563 ตกลงร้อยละ 1.4 ซึ่งนับว่าหดตัวต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในไตรมาส 4/2551
อ้างอิง; CNBC, Yahoo Finance, YNA, ABO