โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย วอนขอให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการดำเนินการใดๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อยุติ “ความโหดร้าย” ในฉนวนกาซา และช่วยทำให้เกิดการหยุดยิงขึ้น ทั้งนี้ การพูดคุยของไบเดนกับวิโดโดในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 พ.ย.) เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กินเวลายาวนานมาแล้วนับเดือน ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าการให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่
ก่อนหน้านี้ วิโดโดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาหรับและมุสลิมในกรุงริยาด เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งชาติที่เข้าร่วมการประชุมได้ประณามอิสราเอลและเรียกร้องให้มีการหยุดยิง ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่มีขนาดประชากรมากที่สุดในโลก และชาวอินโดนีเซียได้จัดการประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ รวมถึงการคว่ำบาตรธุรกิจต่างๆ ที่ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับอิสราเอล
“อินโดนีเซียเรียกร้องให้สหรัฐฯ ดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อหยุดยั้งความโหดร้ายในฉนวนกาซา” วิโดโดกล่าวในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ในขณะที่ประธานาธิบดีทั้งสองเข้าพบกันท่ามกลางสงครามที่ยังคงคุกรุ่น “การหยุดยิงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อมนุษยชาติ” ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวย้ำ
ความรุนแรงของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ปะทุขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งควบคุมพื้นที่ของฉนวนกาซา เปิดฉากเข้าโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 1,200 คน พร้อมกันกับการจับตัวประกันมากกว่า 200 คน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้ อิสราเอลได้เข้าปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสิ้นเชิง และทิ้งระเบิดใส่ฉนวนกาซานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 11,000 ราย
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ไบเดนอยากให้อินโดนีเซีย “มีบทบาทมากขึ้น” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจรวมถึง “ปัญหาการหยุดยิง” แต่ยังรวมถึงเป้าหมายระยะยาว เช่น การแก้ปัญหาสองรัฐหลังสงคราม และการสร้างฉนวนกาซาขึ้นใหม่
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทางการสหรัฐฯ ได้เริ่มเรียกร้องให้มีการยับยั้งชั่งใจ และ “การหยุด” เพื่อมนุษยธรรมมากขึ้น เพื่อที่จะเปิดทางให้มีการให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในฉนวนกาซา หรือปล่อยตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับตัวเอาไว้
การหารือระหว่างวิโดโดกับไบเดน มีขึ้นก่อนการเจรจาระหว่างไบเดน และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก ทั้งนี้ จีนและอินโดนีเซียต่างเป็นสมาชิกของ APEC เช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะยกระดับความร่วมมือกับอินโดนีเซีย ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสูงสุด ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังพยายามกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากไบเดนได้ยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามในการเดินทางเยือนกรุงฮานอย เมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในเมียนมา ยังเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ และอินโดนีเซียจะต้องหารือกัน หลังจากเมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายจากการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา ต่อรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี ในเดือน ก.พ. 2564 จนก่อให้เกิดการต่อสู้ระหว่างทหารและกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกำลังเลวร้ายลงในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมา แต่อาเซียน ซึ่งแม้จะสั่งห้ามนายพลระดับสูงของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน กลับประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยในการแสวงหาความรับผิดชอบต่อกองทัพเมียนมา ทั้งนี้ อินโดนีเซียกำลังเป็นประธานอาเซียนและกำลังจะพ้นวาระลง โดยจะมีลาวเข้ามารับตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นชาติต่อไป
การเจรจาของไบเดนและวิโดโดยังครอบคลุมถึงความร่วมมือใหม่ๆ ในด้านการป้องกัน เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์และอวกาศ ตลอดจนปัญหาสภาพภูมิอากาศกับสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการประกาศขั้นตอนร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การสนับสนุนโครงข่ายไฟฟ้า และการปรับปรุงคุณภาพอากาศ
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ประธานาธิบดีอินโดนีเซียยังเน้นย้ำถึงนโยบายการรักษาความเป็นกลางของประเทศ ที่มีการยึดถือมายาวนาน “อินโดนีเซียเปิดกว้างเสมอที่จะร่วมมือกับประเทศใดๆ และไม่เข้าข้างอำนาจใดๆ ยกเว้นเข้าข้างสันติภาพและมนุษยชาติ” วิโดโดกล่าว
ที่มา: